นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ว่า ไม่มีความสามารถในการดูแลเรื่องปัญหาแรงงานจนส่งผลให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย จากการประกาศปิดแคมป์คนงานโดยไม่เตรียมมาตรการรองรับ ทำให้มีการหลบหนีจนเกิดการแพร่กระจายเชื้อไปทั่วประเทศ
โดยส่วนหนึ่งมาจากขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าประเทศผิดกฎหมายของ “ดาบ จ.” ที่ อ.แม่สอด จ.จาก ซึ่งมีนายตำรวจยศ พล.ต.ต.ผู้อยู่เบื้องหลัง และมี “เจ๊ อ.” เป็นเอเย่นต์จัดส่งแรงงานกระจายไปยังสถานประกอบการต่างๆ โดยมีรายได้ตกปีละ 250 ล้านบาท จากการเรียกเก็บค่าหัวคิวคนละ 5,000 บาท
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมีการนำเงินจากกองทุนประกันสังคมจำนวน 850 ล้านบาท ไปใช้ในการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์
ด้านนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีการนำเงินในกองทุนฯ ออกมาใช้จำนวน 10,100 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้สั่งลดการจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ อีก 88,831 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน
ขณะที่มาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ มีความล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อรายได้ที่จะใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน ข้อมูลตกหล่นไม่ทั่วถึง และเลือกปฏิบัติเฉพาะ 9 กิจการ โดยเป็นมาตรการที่ไม่คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะที่การเปิดรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพียงหวังตัวเลขที่จะขอรับเงินเยียวยาเท่านั้น ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าในระยะยาวรองรับไว้ แต่ยังมีผู้ใช้แรงงานอีกมากไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคม
การขอรับวัคซีนและเตียงผู้ป่วย จะต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ รมว.แรงงาน ทำให้สถานประกอบการขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าว โดยแรงงานต้องไปนอนรอในปั้มน้ำมันเพื่อรอคิวตรวจหาเชื้อและเตียงผู้ป่วย ขณะที่การดำเนินมาตรการ Buble & Seal หรือ Factory Sandbox สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจะดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้เพียง 30% เท่านั้น
ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า รัฐบาลตามจ่ายหนี้คืนกองทุนประกันสังคมเรื่อยมา จนเหลือค้างราว 6 หมื่นล้านบาท ส่วนการลดสมทบกองทุนฯ เป็นไปตามข้อเรียกร้องขององค์กรภาคเอกชน เพื่อลดภาระและรักษาสภาพการจ้างงานให้คงไว้ตามเดิม ซึ่งผ่านความเห็นชองของคณะกรรมการไตรภาคี การดำเนินมาตรการเยียวยา 29 จังหวัดจะครอบคลุมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ม.33 ม.39 และ ม.40 กว่า 8 ล้านคนนั้นใช้เงินงบประมาณ ไม่ได้ใช้เงินกองทุนฯ และการดำเนินมาตรการเยียวยานั้น ต้องดำเนินการไปตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลได้เปิดรับสมัครตาม ม.40 ไม่สามารถจะจ่ายเงินให้ไปโดยไม่มีหลักฐาน ซึ่งรัฐบาลมีความเป็นห่วงแรงงานนอกระบบราว 20 ล้านคน
ส่วนการปิดแคมป์คนงานนั้นยอมรับว่ามีการหลบหนีออกไปได้บ้าง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงคาบลูกคาบดอก แต่ขณะนี้ทั้ง 622 แคมป์ในกรุงเทพฯ ที่มีคนงานราว 8 หมื่นคน สามารถเปิดดำเนินการได้ตามปกติแล้วหลังจากได้ดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองหาเชื้อและฉีดวัคซีนให้ครบ 100%
นายสุชาติ กล่าวว่า ไม่รู้จักขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อน ขณะที่มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้เป็นจำนวนมาก และในปี 63 สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวแล้ว 654,864 คน แต่การจัดทำรายละเอียดยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากติดขัดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ 850 ล้านบาทของสำนักงานประกันสังคมนั้นยังไม่เรียบร้อย และในช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงได้จัดเตรียม Hospitel รองรับจำนวนมาก ส่วนการจัดสรรวัคซีนที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงแต่ปริมาณวัคซีนมีจำกัด
ด้านการดำเนินมาตรการ Factory Sandbox นั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นอุตสาหกรรมหลัก 4 สาขา ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การแพทย์ โดยมีการคัดกรองและฉีดวัคซีน 100% ก่อนพิจารณาออกใบรับรองสินค้าที่ผลิตได้ไม่มีการปนเปื้อนโควิด-19 หลังจากนั้นจะมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงนั้น เป็นเรื่องที่คิดไว้ว่าจะดำเนินการต่อไป หลังจากสามารถแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้คลี่คลายก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ปัญหาแรงงาน, พรรคเพื่อไทย, สมคิด เชื้อคง, สุชาติ ชมกลิ่น, สุเทพ อู่อ้น, อภิปรายไม่ไว้วางใจ