นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข โดยระบุว่า บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวจากการสั่งซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นมาก
จากวารสารทางวิชาการในระดับสากลที่มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ส.ค.64 ระบุถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตา คือ วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 88% วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60-71% ส่วนวัคซีนซิโนแวคไม่พบข้อมูล ซึ่งแสดงว่าซิโนแวคไม่มีความสามารถในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้
ด้านผลการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ที่จัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีการเผยแพร่ในวันที่ 14 ก.ค.64 พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิดเมื่อหายแล้วมีความสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ 93.33% ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนวัคซีนซิโนแวคมีความสามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้เพียง 48.33% เท่านั้น
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้ถอดการรับรองของวัคซีนซิโนแวค แม้จะมีความสามารถในการป้องกันไม่ถึง 50% เนื่องจากก่อนหน้านี้วัคซีนซิโนแวคมีความสามารถในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ได้
นพ.วาโย กล่าวว่า ความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คือ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้กล่าวผ่านคลับเฮาส์ในวันที่ 16 ก.ค.64 ว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีนหลาย ๆ คนรวมทั้ง นพ.ประสิทธิ์ สรุปสถานการณ์ในเวลานั้นว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในไทยประมาณ 50% และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มน่าจะไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้เข็มบูสเตอร์ ซึ่งมี 2 ทางออกเท่านั้นคือ mRNA หรือ viral vector และไม่ควรให้ประชาชนได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มอีกต่อไป
จากนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการออกสูตรการฉีดวัคซีนแบบไขว้ คือซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง ทั้งนี้จากงานวิจัยคลินิกของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ที่เผยแพร่วันที่ 19 ส.ค.64 ระบุว่าการฉีดวัคซีนสูตรซิโนแวคตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น แต่ยังด้อยกว่าวัคซีนไฟเซอร์
แต่นายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ยังคงสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มอีก แม้จะรู้ว่าไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ โดยอนุมัติซื้อเพิ่ม 12 ล้านโดสในวันที่ 16 ส.ค. 64 และได้ออกมาชี้แจงการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนถึง 2 เหตุผล คือ ใน 1 เดือนต้องการวัคซีนจำนวน 10-15 ล้านโดส แต่ไม่สามารถนำเข้าวัคซีนชนิดอื่นมาในเวลาตามกำหนดได้ และ ต้องนำมาใช้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซึ่งได้ภูมิคุ้มกันสูงกว่าฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม
นอกจากนั้น การฉีดวัคซีนไขว้ของกระทรวงสาธารณสุขยังมีขึ้นก่อนที่ทางโรงพยาบาลศิริราชจะออกผลการศึกษาการฉีดวัคซีนแบบไขว้ สรุปคือมีการสั่งซื้อและการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ทำก่อนจะมีผลศึกษาตามหลักวิชาการออกมา
ดังนั้น นายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข มีความไม่เหมาะสมในการออกนโยบาย และต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในความผิดตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ หลักในการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องมีความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ ตามมาตรา 8, มาตรา 55 และมาตรา 56 รวมทั้งมีความผิดในมาตรา 120, มาตรา 151 และมาตรา 157
“การปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหรืองดเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยรู้หรือควรรู้ว่าวัคซีนที่ตนสั่งไม่เหมาะสม ซึ่งย่อมเล็งเห็นผลว่าจะทำให้คนตาย เป็นความผิดหรือไม่”
นายวาโย กล่าว
ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล กล่าวในการอภิปรายฯว่า นายอนุทินได้กล่าววาทกรรมว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเต็มแขนประชาชนในไตรมาส 3/64 แต่จากข้อมูลวันที่ 1 ก.ย.64 มีประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรก 23.8 ล้านคน เข็มที่สอง 8.2 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศจำนวน 67 ล้านคน
ก่อนหน้านี้รัฐบาลประชาสัมพันธ์มาโดยตลอดว่าจะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสที่จะส่งมอบภายในปี 64 ซึ่งในวันที่ 3 ม.ค 64 ระบุว่าจะสามารถส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้ 26 ล้านโดสในเดือน พ.ค.64 แต่จากเอกสารพบว่ามีการลงสัญญาแบบครบถ้วนในวันที่ 4 พ.ค.64 จัดซื้อวัคซีน 35 ล้านโดส ซึ่งสัญญาจะมีผลเมื่อมีการลงสัญญาเรียบร้อยแล้ว แต่นายกรัฐมนตรี และนายอนุทินกล่าวอ้างจำนวนวัคซีน 61 ล้านโดสที่จะได้รับจากแอสตร้าเซนเนก้ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี
ต่อมาวันที่ 6 พ.ค.64 นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทยมีวัคซีน 63 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส และวัคซีนซิโนแวคอีก 2 ล้านโดส โดยภายในสิ้นปี 64 ประชาชนจะได้รับวัคซีน 70% หรือจำนวน 50 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส และตั้งเป้าฉีดให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส
ส่วนในวันที่ 13 มิ.ย. 64 อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ตัวเลข 61 ล้านโดสในการจัดหาวัคซีน เป็นแค่ศักยภาพในการฉีด ไม่ใช่จำนวนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ต้องส่งมอบ” ขณะที่นายอนุทินกล่าวว่าประเทศไทยสั่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 61 ล้านโดส แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะได้ครบเมื่อใด ซึ่งเป็นการกล่าวที่ไม่ตรงกับที่เคยกล่าวไว้เมื่อช่วงต้นปี
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า การส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถส่งมอบให้ประเทศไทยได้เพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีน นอกจากนี้ได้ชี้แจงว่าในสัญญาแอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้ระบุว่าต้องส่งมอบเดือนละกี่โดส โดยจากสัญญาการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของประเทศไทยไม่มีตารางการส่งมอบในแต่ละเดือนเหมือนประเทศอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการทำสัญญาที่หละหลวมของรัฐบาล
นายอนุทินเพิ่งส่งหนังสือถึงแอสตร้าเซนเนก้าในวันที่ 30 มิ.ย.64 เพื่อขอให้ส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแก่รัฐบาลไทยเดือนละ 10 ล้านโดส แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีกล้ายืนยันแผนการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ทั้งนี้ในช่วงท้ายของหนังสือมีข้อความที่ระบุว่าแอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนเกือบ 2 เท่าของจำนวนที่เคยหารือกันในปีก่อนที่รัฐบาลแจ้งว่ามีความต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสเท่านั้น และแอสตร้าเซนเนก้าได้แนะนำโอกาสในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมในราคาที่ไม่ทำกำไร ผ่านโครงการ COVAX Facility แต่นายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการส่งผลให้ประชาชนคนไทยเสียโอกาสในการปกป้องชีวิตตนเอง
การที่ประเทศไทยไม่สามารถได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นอันดับแรกนั้น เนื่องจากจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ระบุไว้ว่าหากใช้เงินกู้อุดหนุนบริษัทเอกชนในการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector ต้องมีเงื่อนไขจำกัดสิทธิการส่งออก นายกรัฐมนตรีจึงใช้งบกลางไปอุดหนุนแทน เพราะรู้ว่ารัฐบาลไม่สามารถจำกัดสิทธิส่งออกวัคซีนได้ หลังจากนั้นนายอนุทินได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญายอมรับข้อตกลงการส่งออกโดยปราศจากข้อจำกัดในวันที่ 12 ต.ค.63
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 64)
Tags: COVAX, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พรรคก้าวไกล, วาโย อัศวรุ่งเรือง, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, แอสตร้าเซนเนก้า