นางกิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า กลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่จะไม่สามารถรับมือกับภาวะ “Taper Tantrum” ซ้ำสองได้อีก โดยภาวะ Taper Tantrum อ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2556 เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง จนส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
นางโกปินาธให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียล ไทมส์ ว่า “ตลาดเกิดใหม่กำลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายด้าน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศกลุ่มนี้ถึงไม่สามารถรับมือกับภาวะ Taper Tantrum ได้อีก”
ความคิดเห็นของนางโกปินาธเกิดขึ้น หลังจากเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า เฟดจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ภายในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวขึ้นในวงกว้างตามคาดการณ์
นอกจากนี้ นางโกปินาธยังได้เตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจตามมา หากอัตราเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาที่เป็นอันตรายมากขึ้นในสหรัฐ และผลักดันให้เฟดต้องปรับมาใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินอย่างกะทันหัน
“เรากังวลถึงสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้ออาจดีดตัวขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และนั่นจะทำให้เฟดต้องปรับนโยบายการเงินในสหรัฐเป็นปกติเร็วขึ้นกว่าเดิม” พร้อมเสริมว่า ธนาคารกลางจำเป็นต้องสื่อสารกับตลาดให้ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต
ด้านนายโจนาธาน ฟอร์ตัน นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินนานาชาติ (Institute of International Finance) กล่าวเมื่อต้นเดือนว่า ตลาดเกิดใหม่ยังไม่แข็งแกร่งพอสำหรับนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ เนื่องจากการสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐที่ต่ำลงอาจทำให้สภาพการเงินทั่วโลกตึงตัวขึ้นได้
อนึ่ง Taper Tantrum คือเหตุการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2556 หลังจากเฟดประกาศว่าจะปรับลดวงเงินในโครงการ QE ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และยังผลักดันให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อปกป้องบัญชีทุนในประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 64)
Tags: IMF, Taper Tantrum, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, กิตา โกปินาธ, พันธบัตร, เฟด