PPPM ปรับโครงสร้างหนี้ขายสินทรัพย์, เจรจาธนาคาร-หาพันธมิตรธุรกิจแก้เครื่องหมาย C

บมจ.พีพี ไพรม (PPPM) เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไข กรณีหลักทรัพย์ของบริษัทขึ้นเครื่องหมาย “C” เนื่องจากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว สำหรับไตรมาสที่ 2/64 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทฯ ขอรายงานแนวทางการแก้ไขดังนี้

เนื่องจากบริษัทมีทุนจดทะบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 2,064.20 ล้านบาท และมีส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นสามัญจำนวน 625.98 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วภายหลังปรับปรุงด้วยส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้น 1,438.22 ล้านบาท โดยงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 128.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.32% ของทุนชำระแล้วซึ่งต่ำกว่ากณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งไว้คือ ต้องสูงกว่า 50% ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย “C”

สาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนซึ่งเกิดจาก

  1. การตั้งด้อยค่าในสินทรัพย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ในส่วนของทรัพย์สินที่ติดคดีความโดยใช้วิธีต้นทุน ( Cost approach) แทนการใช้วิธีประมาณการกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow)
  2. ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้กระแสเงินสดรับลดลง ขณะค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) ไม่ได้แปรผันตามรายรับ ทำให้บริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียน
  3. การขาดเงินทุนหมุนเวียนข้างต้นทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินการผลิตสินค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กล่าวคือ บริษัทยังมีความสามารถในการผลิตเหลืออยู่ และเป็นสาเหตทำให้ยอดขายลดลง

ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการจำหน่ายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ดำเนินงาน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย โดยบริษัทมีแนวทางที่จะขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินงานในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทางการเงิน เช่น ที่ดินจังหวัดสมุทรสงคราม, ที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเงินลงทุนในหุ้นสามัญ เป็นต้น โดยเมื่อเดือนก.ค.64 บริษัทสามารถขายที่ดินจังหวัดสมุทรสงครามได้ ซึ่งบริษัทได้นำเงินจากการขายที่ดินไปชำระหนี้ของธนาคารแห่งหนึ่งซึ่งสามารถลดภาระดอกเบี้ยของบริษัทลงได้
  2. เจรจากับธนาคารหรือหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อบริษัท ทำให้รายได้จากการขายลดลง กระแสเงินสดรับของบริษัทมีมูลค่าลดลง ขณะที่บริษัทยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่ ทำให้บริษัทขาดกระแสเงินสด ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับทางธนาคารและหา Strategic partner เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดกระแสเงินสด
  3. ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ บริษัทปรับกลยุทธ์ทางการตลาด โดยเน้นที่จะจำหน่ายสินค้าให้กลุ่มลูกค้าที่มีฐานะทางการเงินที่ดี มีเครดิตเทอมระยะสั้น ซึ่งจะมีผลทำให้บริษัทมีเงินทุนมาหมุนเวียนในกิจการ และสามารถสร้างกำไรได้เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา อีกทั้งมีผลทำให้หนี้เสียของบริษัทลดลงในอนาคต โดยฝ่ายขายจะให้บริการลูกค้าใกล้ชิดได้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับบริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำมากกว่า 20 ปี สินค้าของบริษัทได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า

นอกจากนี้บริษัทฯ สามารถขยายระยะเวลาของหนี้สินระยะสั้น เป็นหนี้สินระยะยาว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท เพื่อนำเงินมาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มยอดขายได้ โดยมีความคืบหน้าในการชำระหนี้ของไตรมาส 2/64 ดังนี้

  1. เงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 492.58 ล้านบาท ครบกำหนดวันที่ 16 ก.พ.65 บริษัทมีการจำหน่ายสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันของธนาคาร และได้ชำระคืนเงินต้นกับธนาคารแล้วเป็นจำนวน 154.74 ล้านบาท เมื่อวันที่ 9 ก.ค.64 ปัจจุบันคงเหลือเงินต้นคงค้าง 337.84 ล้านบาท ธนาคารให้พักชำระเงินต้นเป็นจำนวน 3 เดือน ตั้งแต่ก.ย.-พ.ย.64 และอนุมัติให้ปลดหลักประกันประเภทบัญชีกระแสรายวันจำนวน 14.66 ล้านเยน หรือคิดเป็นจำนวน 4.46 ล้านบาท เพื่อชำระค่างวดเดือนส.ค.64 ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารเพื่อยืดระยะเวลาการชำระออกไปเป็น 7 ปี
  2. เงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารกสิกรไทย จำนวน 50 ล้านบาท ครบกำหนด 31 ส.ค.64 ขยายเป็นครบกำหนดวันที่ 30 พ.ย. 64 เนื่องจากทางธนาคารอนุมัติให้เลื่อนระยะเวลาชำระออกไปอีก 3 เดือน ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารเพื่อยืดระยะเวลาการชำระออกไปเป็น 7 ปี
  3. หุ้นกู้ TLUXE198A จำนวน 255.60 ล้านบาท ครบกำหนดวันที่ 2 ก.ค.64 ขยายเป็นครบกำหนดวันที่ 2 ก.ค. 66 โดยมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ อนุมัติให้เลื่อนวันครบกำหนดชำระ โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ได้แก่ งวดแรกครบกำหนดจ่าย 10% (25.56 ล้านบาท) วันที่ 2 ก.ค.65 งวดที่สองจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด (230.04 ล้านบาท) วันที่ 2 ก.ค.66
  4. หุ้นกู้ TLUXE205A จำนวน 170 ล้านบาท ครบกำหนดวันที่ 8 พ.ค.64 ขยายเป็นครบกำหนดวันที่ 8 พ.ค.66 โดยมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ อนุมัติให้เลื่อนวันครบกำหนดชำระ โดยบริษัทแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดแรกครบกำหนดจ่าย 10% (17 ล้านบาท) วันที่ 8 พ.ค.65 และงวดที่สองจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด (153 ล้านบาท) วันที่ 8 พ.ค.66
  5. หุ้นกู้ PPPM213A จำนวน 207.60 ล้านบาท ครบกำหนดวันที่ 18 มี.ค.64 ขยายเป็นครบกำหนดวันที่ 18 มี.ค. 66 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ อนุมัติให้เลื่อนวันครบกำหนดชำระ โดยบริษัทแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดแรกครบกำหนดจ่าย 10%(20.76 ล้านบาท) วันที่ 18 มี.ค.65 งวดที่สองจ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด (186.84 ล้านบาท) วันที่ 18 มี.ค.66

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top