สภาพัฒน์ เผย Q2/64 ภาคเกษตร-ภาคผลิตหนุนจ้างงานเพิ่ม, หนี้ครัวเรือนยังสูง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไตรมาส 2/64 พบว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้น 2% โดยในส่วนของการจ้างงานภาคเกษตร มีการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 2.4% จากผลของแรงงานในเมืองที่กลับภูมิลำเนามาเข้าสู่ภาคเกษตร ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 1.8% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของภาคการผลิตเพื่อส่งออก เช่น กลุ่มยานยนต์, ผลิตภัณฑ์ยาง, อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานลดลงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มเข้น เช่น การผลิตอาหาร และโรงแรม เป็นต้น

ในขณะอัตราการว่างงานของไตรมาส 2/64 ยังอยู่ในระดับสูงจากผลกระทบสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยอยู่ที่ระดับ 1.89% ลดลงเล็กน้อย คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.3 แสนคน แบ่งเป็น ผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน (ผู้จบการศึกษาใหม่) 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.04% และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 4.4 แสนคน ลดลง 8.38% เมื่อพิจารณาระยะเวลาของการว่างงาน พบว่า ผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่างงานนานขึ้น โดยผู้ว่างงานนานกว่า 12 เดือน มีจำนวน 1.47 แสนคน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าจากช่วงเดียวกันของไตรมาสที่แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการว่างงานในปัจจุบันอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป มีดังนี้

1. ผลกระทบจากการระบาดที่มีความรุนแรงมากขึ้น และมาตรการควบคุมการระบาดที่ส่งผลต่อความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งต่อมารัฐบาลมีการประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง และมีแนวโน้มจะลดลงมากกว่าการระบาดในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการจ้างงาน การมีงานทำ และรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้

2. การออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภาครัฐ เพื่อประคับประคองให้แรงงาน และผู้ประกอบการยังคงรักษาการจ้างงาน และการประกอบกิจการไว้

3. การปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับสู่ภูมิลำเนา ส่งผลให้ผู้ว่างงานในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แรงงานที่กลับไปภูมิลำเนา มีแนวโน้มประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น จึงควรมีแนวทางการส่งเสริมทักษะอาชีพอิสระที่แรงงานสามารถเข้าถึง และฝึกฝนได้ด้วยตนเอง

“การระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนาน จะส่งผลให้แรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่เข้มข้นกว่าการช่วยเหลือจากการระบาดในระลอกที่ผ่านมา อาทิ การช่วยสนับสนุนค่าจ้างบางส่วนให้กับผู้ประกอบการ เพื่อรักษาการจ้างงาน รวมทั้งให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่แรงงานผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจากมาตรการควบคุมการระบาด หรือมีความจำเป็นต้องกักตัว” นายดนุชา กล่าว

พร้อมมองว่า แนวโน้มการว่างงานในไตรมาส 3 จะมีทิศทางอย่างไรนั้น คงต้องพิจารณาว่าภาครัฐจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะจากการล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้นอาจจะตอบได้ยากในขณะนี้ แต่เชื่อว่าผู้เสมือนว่างงานจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแน่นอน จากผลของมาตรการล็อกดาวน์ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

โดยขณะนี้กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานในด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้คงไว้ ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในเร็ว ๆ นี้

นายดนุชา กล่าวด้วยว่า สำหรับหนี้ครัวเรือน ล่าสุดในไตรมาส 1/64 เพิ่มขึ้น 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าหนี้อยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.5% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 89.4% ต่อจีดีพี มูลค่าหนี้ 14.04 ล้านล้านบาท โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากหนี้ส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิตที่ขยายตัวในอัตราเร่ง

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อนั้น ยังต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้นจาก 2.84% ในไตรมาสก่อน และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้ หรือสถานะทางการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น

โดยประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่

1. ผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เดิม และการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกหนี้สามารถประคับประคองสถานะทางการเงินของครัวเรือนให้ผ่านพ้นจากวิกฤตไปได้ ไม่ให้เป็นหนี้เสีย แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้ลูกหนี้ดี ไม่ชำระหนี้ตามปกติ (Moral Hazard)

2. รายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และการก่อหนี้นอกระบบ ซึ่งจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด จะส่งผลกระทบต่อรายได้ และฐานะการเงินของครัวเรือน และเพิ่มความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่ออาจทำให้ครัวเรือนที่ขาดสภาพคล่องหันไปก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น จึงควรมีมาตรการรักษาการจ้างงาน ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการช่วยเหลือ

3. การเฝ้าระวังกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวง โดยการให้สินเชื่อผ่าน Online Platform ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย จึงควรเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งคณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ เข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มหนี้ครัวเรือนว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจว่าจะกลับมาได้เร็วหรือไม่ เพราะหากกลับมาได้เร็ว ประชาชนก็จะมีรายได้กลับเข้ามาและมีกำลังที่จะเริ่มชำระหนี้ ดังนั้นมาตรการทางด้านการเงินที่จะออกมาในช่วงนี้ควรต้องเป็นมาตรการที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับมาตรการที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ หรือคลินิกแก้หนี้ต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนในแง่ของมูลค่าอาจจะยังเพิ่มขึ้นได้ในระยะถัดไป เนื่องจากยังอยู่ในภาวะวิกฤติจากโควิด

ส่วนกรณีหลุมรายได้ในปี 63-65 ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น นายดนุชา ระบุว่า การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐอาจมีผลกระทบจากข้อจำกัดด้านรายได้ของภาคเอกชนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 63-65 ดังนั้นการใช้มาตรการทางการคลังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมและตรงเป้าหมายมากขึ้น ทั้งในเรื่องการสร้างรายได้ในประเทศ การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ อย่างไรก็ดี สำหรับการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐในอนาคต คงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อขยายฐานภาษีใหม่ๆ และขยายฐานรายได้ของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงการกู้เงินเพิ่มเติมในอนาคตว่า ขณะนี้ภาครัฐคงต้องบริหารเงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ได้ประโยชน์สูงสุดก่อน ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้านั้น จะได้เตรียมการและนำเสนอต่อไป ซึ่งต้องพิจารณาให้เกิดการสร้างรายได้ผ่านมาตรการต่างๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน และภาคการส่งออก ซึ่งในส่วนของการส่งออกนั้น จะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งในปีนี้และปีหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top