กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน ก.ค.64 โดยการส่งออกมีมูลค่า 22,650 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 20.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทโธปกรณ์ การส่งออกเดือนก.ค. จะขยายตัวได้ 25.38% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,467 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 45.94% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 183 ล้านดอลลาร์
สำหรับภาพรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.64) การส่งออกมีมูลค่า 154,985 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.20% การนำเข้า มีมูลค่า 152,362 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 28.73% ส่งผลให้ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 2,622 ล้านดอลลาร์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากหลายปัจจัยที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักสำคัญของไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีในระดับที่น่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรป ทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น 2.ภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเพื่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น
3. เงินบาทที่อ่อนค่า ยังเป็นปัจจัยหนุนต่อภาคการส่งออกไทย 4.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าปีก่อน ส่งผลดีต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ทำให้ได้ราคาดีขึ้น และ 5. เป็นจากการความร่วมมือกันของ กรอ.พาณิชย์ ในการเร่งแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง
รมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า สินค้าส่งออกในเดือนก.ค. มีการขยายตัวในหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ 1. สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ไก่สด แช่เย็น แช่เข็ง และแปรรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ขยายตัวเกือบทุกหมวด เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ
3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์และถุงมือยาง 4. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และ 5. สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้า
ขณะที่ด้านตลาดส่งออก พบว่าสามารถขยายตัวได้เกือบทุกตลาด โดยตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) มีศักยภาพการเติบโตในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดเมียนมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ ตลาดตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา แอฟริกา และรัสเซีย และกลุ่ม CIS มีอัตราการขยายตัวในระดับสูงแทบทั้งสิ้น
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2564 ว่า ยังมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีสะท้อนจาก 1.การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 2.ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อีกทั้งการส่งออกไปยังอาเซียนยังได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน แม้ว่าจะยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรง 3.มาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และการเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลก ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย 4.ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในขณะนี้
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า จากเป้าหมายการส่งออกของไทยปีนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ 4% นั้น จะเห็นได้ว่าจนถึงปัจจุบันการส่งออก 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) สามารถขยายตัวได้แล้วถึง 16.20% ซึ่งเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ถึง 4 เท่า และกระทรวงพาณิชย์คงจะไม่ปรับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ เพราะเป็นเพียงตัวเลขคาดการณ์เท่านั้น แต่ในส่วนของการทำงานจริงๆ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนจะพยายามร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการผลักดันการส่งออกของไทย
สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้สั่งการให้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกกว่า 130 กิจกรรมในครึ่งปีหลัง พร้อมจัดการเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกาและลาตินอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับทูตพาณิชย์ของไทยในจีน เพื่อเร่งแก้ไขอุปสรรคการส่งออกในสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียน และลำไย ไปยังตลาดจีน ซึ่งงจากความพยายามในการหารือและเจรจาครั้งที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ทำให้จีนปลดล็อกอุปสรรคการส่งออกในสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิดแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรในประเทศมีช่องทางในการระบายสินค้าและส่งผลดีต่อเกษตรกรของไทยในระยะต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ยอมรับว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในคลัสเตอร์โรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตเพื่อส่งออกนั้น มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าซึ่งได้เริ่มเห็นมาตั้งแต่ปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีการส่งออกผลไม้ของไทย เนื่องจากมีข้อจำกัดจากการล็อกดาวน์ ทำให้บางโรงงานผลิตสินค้าได้ไม่ต่อเนื่อง หรือโรงงานบางแห่งต้องปิดชั่วคราว มีผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงสถานการณ์โควิดของประเทศเพื่อนบ้านจนทำให้มีอุปสรรคในเรื่องของสินค้าผ่านแดน ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ และสินค้าบางประเภท
“สถานการณ์โควิด เริ่มมีผลกระทบตั้งแต่ปลายก.ค. และอาจจะต่อเนื่องไปในเดือน ส.ค. และก.ย. เพราะเมื่อล็อกดาวน์ก็จะมีผลต่อภาคการผลิต ที่โรงงานบางแห่งต้องปิดตัว บางแห่งผลิตได้ไม่ต่อเนื่องจนกระทบการส่งออก รวมทั้งสถานการณ์โควิดของประเทศเพื่อนบ้านที่ติดขัดเรื่องการข้ามแดนจากด่านไทยไปลาว เวียดนาม และจีน มีผลต่อการส่งออกผลไม้และสินค้าบางประเภท ส่วนทางมาเลเซียที่มีปัญหาโควิดเช่นกัน ก็ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำยางดิบของไทย ซึ่งกระทรวงฯ จะเร่งแก้ปัญหาหน้างานให้ดีที่สุด”
นายจุรินทร์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 64)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การค้าระหว่างประเทศ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ส่งออก