นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า หลังจาก รฟม.ได้ยกเลิกการประมูลเมื่อก.พ.64 และอยู่ระหว่างเตรียมการดำเนินการประมูลครั้งใหม่ โดยได้เปิดรับฟังความเห็นเอกชนแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุมคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อพิจารณาทีโออาร์ใหม่ โดยการประชุมผ่านออนไลน์ไม่สามารถนำมาบังคับใช้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้
ปัจจุบัน รฟม.ได้มีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้เข้าร่วมการใช้ข้อตกลงคุณธรรม จึงได้มีหนังสือไปยังกระทรวงการคลังเพื่อนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งระหว่างนี้รอหนังสือจากกระทรวงการคลัง และส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตุการณ์การประกวดราคาโครงการนี้ จากนั้นคณะกรรมการมาตรา 36 จะพิจารณาทีโออาร์ใหม่แล้วจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนซื้อซองเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
ผู้ว่า รฟม. กล่าวว่า การพิจารณาทีโออาร์ใหม่ของคณะกรรมการมาตรา 36 ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน และออกประกาศเชิญชวนเอกชน โดยเบื้องต้นจะขายเอกสารคัดเลือกฯภายในเดือน ต.ค.นี้และให้เวลาเอกชนเตรียมข้อเสนอ 60 วัน เบื้องต้นคาดว่าในเดือนมี.ค.-เม.ย.65 จะได้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับสถานการณ์โควิดหากดีขึ้นก็สามารถเร่งการดำเนินการได้ตามกำหนดเวลา
นอกจากนี้ การประมูลรถไฟ้าสายสีส้มที่ล่าช้านั้น รฟม.ปรับแผนเร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยส่วนสายสีส้มตะวันออก งานก่อสร้างคืบหน้าไปมาก หากได้เอกชนร่วมลงทุนจะให้เร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้าทันทีเพื่อให้เปิดเดินรถได้ตามแผน โดยในส่วนสายสีส้มตะวันออก จะแดินรถในกลางปี 68 ส่วนสายสีส้มตะวันตกจะเปิดบริการในปี 70
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของ รฟม.ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
สำหรับการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ นายภคพงศ์กล่าวว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ก.ค.64 จนถึงวันที่ 7 ต.ค.64 มีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาฯ ทั้งสิ้น 8 ราย โดยแบ่งเป็นบริษัทสัญชาติไทย 6 ราย และต่างชาติ 2 รายมาจากเอเชีย รวมทั้งสิ้น 8 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค.64) ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่ได้รายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบ
ทั้งนี้กำหนดให้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ซอง ในวันที่ 8 ต.ค.64 หลังจากประเมินข้อเสนอภายในธ.ค.64 และคาดว่าจะรู้ผลการประมูล ทั้ง 6 สัญญา ในเดือน ม.ค.65
ผู้ว่า รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคาในสัดส่วน 30:70 เพราะรฟม.คำนึงความสำเร็จของโครงการ โดยได้ใช้บทเรียนในอดีตมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีแนวเส้นทางผ่านสถานที่สำคัญและอ่อนไหวหลายแห่ง เช่น รัฐสภาแห่งใหม่ โรงพยาบาลวชิระ หอสมุดแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย วัดต่างๆ รวมถึงพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคทางวิศวกรรมในการออกแบบและก่อสร้างขั้นสูงจากผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และมีสมรรถนะสูงเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดและสามารถดำเนินงานก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงเป็นไปตามแผน
การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประกวดราคา โดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา มีจุดประสงค์เพื่อให้การดำเนินโครงการได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เพียงจุดประสงค์ทางด้านราคาที่ต่ำเพียงอย่างเดียว โดยจะต้องพิจารณาประกอบกับข้อเสนอด้านเทคนิคที่มีความเหมาะสมหรือดีที่สุดด้วย เป็นไปตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 65 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ข้อ 83 (2)
ทั้งนี้ รฟม.ไม่ใช่หน่วยงานแรกที่ใช้เกณฑ์เทคนิคมาร่วมกับเกณฑ์ราคา ตัวอย่างเช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐหลายโครงการที่ใช้เกณฑ์การคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ด้านเทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา เช่น โครงการงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบินสุวรรณภูมิ งานจ้างปรับปรุงระบบตรวจสอบวัตถุระเบิด และงานจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระในโครงการพัฒนา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
รวมถึงในโครงการร่วมลงทุนสาธารณูปโภคของภาครัฐขนาดใหญ่ เช่น โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด (โครงการทางด่วนสายแจ้งวัฒนะ – บางพูน – บางไทร) โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอย โดยระบบเตาเผามูลฝอย ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมของกรุงเทพมหานครซึ่งใช้เกณฑ์คะแนนรวมด้านเทคนิคกับผลตอบแทนด้านการเงิน รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ก็ใช้เกณฑ์การประเมินคะแนนรวมด้านเทคนิคกับด้านผลตอบแทนเช่นกัน
ส่วนประเด็นการกำหนดให้ใช้ผลงานที่เป็นของหน่วยงานรัฐภายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ การกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทย เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯต้องมีการออกแบบก่อสร้างอุโมงค์และสถานีใต้ดินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสภาพธรณีวิทยาที่มีคุณสมบัติเฉพาะสถานที่โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชั้นใน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญๆ และโบราณสถานต่างๆ มากมาย จึงต้องการผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ผ่านการก่อสร้างและประสานงานในโครงการก่อสร้างประเภทเดียวกันในประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าผลงานที่แล้วเสร็จ มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ในขณะที่การอ้างอิงผลงานต่างประเทศ จะตรวจสอบข้อมูลโครงการได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นประเภทงาน มูลค่าผลงานที่แท้จริง คุณภาพของผลงานที่แล้วเสร็จ
รวมถึงประเด็นปัญหาระหว่างดำเนินการก่อสร้างและการที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้รับจ้างสามารถใช้ผลงานเอกชนที่ รฟม. เชื่อถือได้นั้น เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้า หรือโครงการระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่มีผลงานประเภทเดียวกันกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ในประเทศไทย มีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของโครงการทั้งหมด ดังนั้น รฟม. จึงไม่ได้พิจารณาให้ใช้ผลงานจากหน่วยงานเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงการคลังฯ ที่กำหนดให้หน่วยงานพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมหรือจำเป็น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 64)
Tags: ประมูล, ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้าสายสีส้ม, รฟม.