นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. และกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อออกมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ต่อประชาชนและภาคธุรกิจมาต่อเนื่อง
แต่การแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานกว่าคาด จึงมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประเทศให้มีเงินทุน และสภาพคล่องเพียงพอเพื่อดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงานต่อไปได้
รวมทั้งต้องมีมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อรักษาช่องทางการระดมทุนของภาคเอกชนและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
โดยมาตรการในครั้งนี้จะประกอบด้วย 4 ส่วนที่สำคัญ คือ
มาตรการที่ 1: การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่อง
ทั้งนี้ ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคาร) แต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไป ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต
ธปท. หวังว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้ SMEs มีเงินสดในมือ เพื่อรองรับรายจ่ายจำเป็น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน นอกจากนั้น ธปท. คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนนี้ ธนาคารจะต้องทำงานร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้
“ส่วนธุรกิจ SMEs ที่ไม่ได้ประสบกับปัญหาสภาพคล่องในช่วงนี้ ธปท. แนะนำว่าควรชำระหนี้ตามปกติหรือตามความสามารถ เพราะมาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนกำหนดวันชำระหนี้เท่านั้น ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่ และที่สำคัญ การชำระหนี้ตามปกติจะช่วยให้ธนาคารมีสภาพคล่องที่จะไปดูแลธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตการณ์โควิด 19 ได้มากขึ้นด้วย”
ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องให้ลูกหนี้ได้อย่างเต็มที่ ธปท. จึงได้ผ่อนปรนเกณฑ์การบริหารสภาพคล่องชั่วคราว
มาตรการที่ 2: การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs& วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
โดย ธปท. จะจัดสรร soft loan อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ให้ธนาคารวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารนำไปให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศ และมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
“มาตรการนี้ไม่ครอบคลุมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET และ MAI) โดยวงเงินที่ SMEs แต่ละรายสามารถขอกู้ได้จะไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 สำหรับ SMEs ที่สนใจ สามารถขอสินเชื่อได้ที่ธนาคารที่ท่านเป็นลูกค้าและมีวงเงินสินเชื่ออยู่” ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
โดยในช่วง 2 ปีแรก ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรก รัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย และเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารเร่งปล่อยสินเชื่อใหม่ในภาวะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายบางส่วนให้แก่ธนาคารในส่วนที่ปล่อยกู้เพิ่มเติมด้วย
กรณีที่หนี้กลายเป็นหนี้เสียเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยให้ไม่เกิน 60% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท
มาตรการที่ 3: มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความผันผวนที่สูงขึ้นมากในตลาดการเงินโลก ส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดการเงินไทย ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนบางส่วนได้เทขายตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเป็นช่องทางการออมที่สำคัญของประชาชนและการระดมทุนของภาคธุรกิจ ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทย มียอดคงค้างประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของ GDP
ทั้งนี้ หากกลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่สามารถทำงานได้ปกติ หรือผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน การระดมทุนหรือต่ออายุหนี้ (rollover) ของธุรกิจจะทำได้ยาก แม้ธุรกิจที่มั่นคงก็อาจจะไม่สามารถระดมทุนได้ หรือต้องระดมทุนด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นมาก จึงมีความเสี่ยงที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะลุกลามในวงกว้าง เป็นปัญหาเชิงระบบตามมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ออมเงินผ่านตัวกลางต่าง ๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน อาทิ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมด้วย
ดังนั้นเพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และกลไกของตลาดการเงินให้ทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ธปท.และกระทรวงการคลังจึงเห็นควรจัดตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน” (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (bridge financing) สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563–2564
ทั้งนี้ บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาด ต้องระดมทุนส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเงินทุนอื่น เช่น การกู้เงินธนาคารพาณิชย์หรือการเพิ่มทุน ต้องมีแผนการจัดหาทุนในระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้งต้องผ่านเกณฑ์และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด ทั้งนี้ หากผู้ออกตราสารหนี้เสนอขายตราสารหนี้ต่อนักลงทุนทั่วไปและมีการให้หลักประกันแก่ผู้ถือ ตราสารหนี้ที่กองทุน BFS จะลงทุนในคราวเดียวกัน ต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่น
มาตรการที่ 4: ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน
ธปท. ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (Financial Institutions Development Fund: FIDF) จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที
นายวิรไท กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนข้างต้นได้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา และ 2. ร่าง พ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
โดย พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับนี้ให้อำนาจ ธปท. บริหารจัดการสภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมีกลไกที่รัฐบาลจะช่วยรับภาระชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นกลไกที่จำเป็นในภาวะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจจะยืดเยื้อ
“พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะช่วยให้ ธปท. มีเครื่องมือเพิ่มขึ้นสำหรับช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และมีเครื่องมือที่พร้อมใช้ดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนได้อย่างทันการณ์”
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมย้ำว่า การออก พ.ร.ก.ที่ให้ ธปท.มีอำนาจดำเนินการในเรื่องของ soft loans และ พ.ร.ก.ที่ให้ ธปท.ดูแลเสถียภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนนี้ ไม่ใช่ พ.ร.ก.กู้เงินแต่อย่างใด แต่เป็นการให้อำนาจ ธปท.เข้าไปบริหารจัดการสภาพคล่องให้ตรงกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น และเพื่อให้มีกลไกที่รัฐบาลจะมาร่วมชดเชยความเสียหาย ทั้งในส่วนของ soft loans ที่จะต้องเร่งปล่อยให้แก่ SMEs และการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ด้วย
นายวิรไท เชื่อมั่นว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มาตรการสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ มาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมในครั้งนี้ จะช่วยดูแลประชาชน ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
รวมทั้งช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และระบบการเงินของประเทศให้ทำงานได้ต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะมีมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น
นายวิรไท กล่าวว่า หากจะเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้กับปี 2540 นั้น แนวทางที่ ธปท.ได้นำเสนอในขณะนี้ คือเป็นแนวทางที่มองไปข้างหน้า มองไกล และเตรียมเครื่องมือไว้พร้อมใช้เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้ ซึ่งในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หลายธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยการแก้ปัญหาได้เกิดขึ้นตามในภายหลัง ส่งผลให้มีต้นทุนที่สูงมากในการแก้ปัญหา ทั้งต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ และต้นทุนต่อรัฐบาลเอง
แต่ในรอบนี้เมื่อ ธปท.มองเห็นปัญหาได้ก่อน จึงได้สร้างกลไกที่ได้เรียนรู้จากประเทศต่างๆ มาเป็นเครื่องมือที่คิดล่วงหน้าไว้สำหรับพร้อมใช้ในอนาคต เมื่อเราเห็นจุดเปราะบางตรงไหน ก็พยายามดับไฟให้ทันและป้องกันไม่ให้ลาม กลไกเรื่องกองทุน BSF และกองทุนที่เข้าไปช่วยดูแลกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ได้ออกไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เป็นหลักการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ที่เข้าไปดูแลไม่ให้ปัญหาลุกลามเป็นลูกโซ่ เป็นการมองไปข้างหน้า ให้มีเครื่องมือเก็บใส่กระเป๋าไว้พร้อมใช้ แต่ถ้าไม่ต้องนำออกมาใช้เลยจะดีที่สุด
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการที่ 1 ในการเลื่อนชำระหนี้ให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน และมาตรการที่ 2 การสนับสนุน soft loans ให้แก่ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี นาน 2 ปีนั้น คาดว่ามีจำนวนลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการที่ 1 ประมาณ 1.7 ล้านราย ซึ่งมียอดคงค้างประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ส่วนมาตรการที่ 2 ก็คาดว่าจะมีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน
พร้อมชี้แจงว่า วงเงิน soft loans จำนวน 5 แสนล้านบาทในการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ SMEs ในครั้งนี้ จะมาจากการจัดหาของ ธปท.เองทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้เงินจากสถาบันการเงินเข้ามาร่วมด้วย อีกทั้งไม่มีการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้เพื่อทำมาตรการนี้
“ธปท.มีความกังวลใจต่อสถานการณ์โควิด-19 เราพยายามใช้กลไก ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนและภาคธุรกิจ ได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วผ่านกลไกของสถาบันการเงินไปพร้อมๆ กับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินด้วย เราโชคดีกว่าหลายประเทศมาก ที่ระบบสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์สามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลแก้ปัญหาลูกหนี้ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนผ่อนชำระ การให้ soft loans หรือเข้ามาดูแลกองทุนรวมตราสารหนี้ มาเป็นกลไกสำคัญในระบบการเงิน”
เวลาที่เราต้องดูแลเยียวยาเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ต้องทำทั้ง 2 มิติ คือการดูแลประชาชน ภาคธุรกิจ อีกด้านต้องรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินของประเทศ เพราะเมื่อสถานการณ์ระบาดคลี่คลายลง ระบบการเงินต้องพร้อมช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมปล่อยสินเชื่อ พร้อมทำให้กลไกการส่งผ่านปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถทำได้ตามปกติ ดังนั้นมาตรการของ ธปท.ครั้งนี้จะมี 2 มิติ คือ การดูแลเยียวยา และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน”
ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 เม.ย. 63)
Tags: SMEs, กองทุนฟื้นฟู, ตราสารหนี้, ตราสารหนี้เอกชน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., พ.ร.ก.กู้เงิน, พักชำระหนี้, วิรไท สันติประภพ