นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการจัดหาวัคซีนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อนำมาใช้ในช่วงที่ระยะเวลาที่วัคซีนมีจำกัดเพิ่มเติม เนื่องจากปัญหาสายพันธุ์เดลตา ที่วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้น้อย จึงควรเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มความครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมายซึ่งต้องได้วัคซีน 100 ล้านโดสภายในปี 2564
โดยการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มจากบริษัทผู้ผลิตที่สามารถส่งมอบวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด โดยให้สถาบันวัคซีนจองซื้อวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ เพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ล้านโดส (ผ่านศบค.เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา) และให้เจรจาจัดหาวัคซีนอื่นๆเพิ่มเติมอีกจำนวน 10 ล้านโดสภายในปี 2564 พร้อมทั้งให้องค์การเภสัชกรรมจัดหาวัคซีนซิโนแวค เพิ่มเติมอีกจำนวน 12 ล้านโดส
ทั้งนี้ ที่ประชุมศบค.เห็นชอบตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอว่า เป้าหมายจะต้องหาวัคซีน อย่างน้อย 10 ล้านโดสภายในเดือนกันยายน และเร่งฉีดในกลุ่มอายผู้สูงอายุ 60 ปี กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรคและหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยการฉีดวัคซีนในเดือนกันยายนจะปูพรมทุกจังหวัด โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และให้ฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุให้ได้อย่างน้อย 70% ในทุกจังหวัดภายในเดือนกันยายนนี้ และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับแผนเปิดการท่องเที่ยว โดยในกรุงเทพฯจะแบ่งวัคซีนไป 15% และในอีก 76 จังหวัด อีก 75% และจังหวัดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 10 จังหวัดอีก 8% และกลุ่มอื่นๆได้แก่ องค์กรภาครัฐ ราชทัณฑ์อีก 2%
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบรับความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากต่างประเทศ โดยจะดำเนินการแลกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ระหว่างรัฐบาลภูฐานกับรัฐบาลไทย ประมาณ 130,000 – 150,000 โดส โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลไทยจะต้องคืนวัคซีนให้รัฐบาลภูฐาน เพื่อแลกเปลี่ยนกันในภายหลัง ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่กระบวนการขนส่งวัคซีนมายังประเทศไทย และการส่งกลับคืน โดยขอสนับสนุนการขนส่งจากกองทัพอากาศ รวมถึงภาษีนำเข้าและส่งออก ตลอดจนค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยขอยกเว้นจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ส่วนการรับบริจาคยา Monoclonal Antibody (Casirivimab/Imdevimab) โดยกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเยอรมนี บริจาคยาดังกล่าวเพื่อใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยโควิดหนักมาก จำนวน 1,000-2,000 ชุด ซึ่งจะช่วยลดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต ได้ 50-70 % และได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 64)
Tags: ซิโนแวค, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วัคซีนต้านโควิด-19, ศบค., ไฟเซอร์