ญี่ปุ่นไฟเขียวข้าราชการลางานได้ 10 วันต่อปีเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก

ญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ข้าราชการลางานโดยได้รับค่าจ้างเป็นเวลาสูงถึง 10 วันต่อปีเพื่อเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.ปีหน้า ซึ่งเป็นความพยายามที่จะช่วยสนับสนุนคู่สมรสที่หวังจะมีบุตร ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

“ภาครัฐจะริเริ่มการสนับสนุนดังกล่าว” ยูโกะ คาวาโมโตะ ประธานสำนักงานบุคลากรแห่งชาติกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยระบุว่า เธอหวังว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวของภาครัฐจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนปฏิบัติตาม

ผลสำรวจทางออนไลน์ซึ่งจัดทำขึ้นในเดือนม.ค.และก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับคำตอบจากข้าราชการทั่วประเทศประมาณ 47,000 คนพบว่า 1.8% กำลังเข้ารับการบำบัดภาวะมีบุตรยาก ขณะที่ 10.1% ระบุว่า พวกเขาเคยเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และ 3.7% ระบุว่า พวกเขาได้พิจารณาเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก

ในบรรดาผู้ที่เคยได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยากหรือกำลังพิจารณาในเรื่องนี้นั้น 62.5% ระบุว่า “เป็นเรื่องยากมาก” ที่จะทำการรักษาภาวะมีบุตรยากไปพร้อมๆ กับการทำงาน ขณะที่ 11.3% ระบุว่า “เป็นไปไม่ได้” โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการต้องไปพบแพทย์บ่อยครั้ง ค่าใช้จ่าย และกำหนดเวลาที่กระทบต่อการทำงาน

โครงการใหม่ของสำนักงานบุคลากรแห่งชาติมีเป้าหมายเพื่อแบ่งเบาภาระ โดยจะทำให้ทั้งข้าราชการประจำและชั่วคราวสามารถลางานโดยได้รับค่าจ้าง 5 วัน และเพิ่มให้อีก 5 วันหากจำเป็น โดยสามารถยืดหยุ่นด้วยการแบ่งลางานเป็นชั่วโมงได้ เช่น การไปพบแพทย์เพียงไม่กี่ชั่วโมงในวันทำงาน

ทั้งนี้ จำนวนเด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 840,832 รายในปี 2563 ขณะที่แนวโน้มการลดลงนั้นรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโรคโควิด-19

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ส.ค. 64)

Tags:
Back to Top