รายงานที่จัดทำโดยอินซิเคียวริตี้ อินไซต์, กลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน (PHR) และศูนย์สาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (CPHHR) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางกองทัพได้โจมตีและคุกคามบุคลากรทางการแพทย์แล้วอย่างน้อย 252 ครั้ง ส่งผลให้มีบุคลากรถูกจับกุมตัวแล้วกว่า 190 ราย และเสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย รวมถึงมีการบุกตรวจค้นโรงพยาบาลถึง 86 ครั้ง ซึ่งได้ทำให้การรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเมียนมาเป็นไปอย่างยากลำบาก
รายงานจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 ระบุว่า มีเหตุการณ์อย่างน้อย 15 ครั้งที่ความพยายามในการรับมือกับโควิด-19 ถูกขัดขวาง รวมถึงการที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดชุดอุปกรณ์ PPE และออกซิเจนเพื่อนำไปใช้แต่เพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังเผยว่า ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 หลายแห่งถูกบังคับให้ปิดตัวลงอีกด้วย
อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า ถึงแม้กองทัพเมียนมาจะอยู่เบื้องหลังการโจมตีบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ แต่การโจมตีบางส่วนก็เกิดขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านคณะรัฐประหาร เช่น เหตุวางระเบิดบริเวณใกล้โรงพยาบาล และการโจมตีขบวนรถของกองทัพเมียนมาที่มีรายงานว่ากำลังขนส่งยารักษาโรค
ระบบสาธารณสุขของเมียนมาโดยรวมนั้นอยู่ในสภาพล้มเหลวนับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี เนื่องจากมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน เพื่อประท้วงการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร
“บุคลากรทางการแพทย์ถูกบีบบังคับให้หลบหนีเนื่องจากหวาดกลัวการถูกจับกุม หรือจำเป็นต้องหลบหนีหลังจากถูกหมายจับ” รายงานดังกล่าวระบุ “และในบางกรณี สมาชิกครอบครัวของบุคลากรที่เป็นเป้าหมายอาจถูกจับกุมแทน”
ข้อมูลจากทางการของเมียนมาระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนเมียนมาเสียชีวิตเฉลี่ยวันละเกือบ 300 รายจากโควิด-19 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่ายคาดว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากในเมียนมามีการตรวจหาเชื้อไม่เพียงพอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 64)
Tags: กลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน, กองทัพเมียนมา, บุคลากรทางการแพทย์, มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์, ระบบสาธารณสุข, อินซิเคียวริตี้ อินไซต์