นักกม.ชี้เงินรางวัลนักกีฬาโอลิมปิคไม่ต้องเสียภาษี-เตือนนักแสดงสาธารณะจัดการภาระภาษีช่วงโควิด

ศ.พิเศษ พิภพ วีระพงษ์ และ นางสาวปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต จาก บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด นำเสนอบทความ “ภาษีนักกีฬาโอลิมปิคและนักแสดงสาธารณะในสถานการณ์โควิด” โดยระบุว่า ช่วงเวลาแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในกรุงโตเกียว (Tokyo 2020) กำลังจะสิ้นสุดลง และเวลาแห่งความสุขของชาวไทยที่จะได้ร่วมเชียร์ก็ใกล้จะหมดลง และคงต้องหาความสุขอื่นๆ มาทดแทนต่อในช่วงเวลาที่ต้องลุ้นกับยอดโควิดในแต่ละวัน แต่อย่างน้อยภาพความดีใจและร่วมยินดีให้กับน้องเทนนิสจะติดตรึงใจคนไทยไปอีกนาน

ภาพ: ศ.พิเศษ พิภพ วีระพงษ์

ข่าวดีของน้องเทนนิสและนักกีฬาทุกคนที่ไปร่วมแข่งขันคือ เงินอัดฉีดที่น้องเทนนิส นักกีฬาเทควันโด้ หรือน้องแต้วนักมวย และนักกีฬาคนอื่น รวมถึงผู้ฝึกสอนได้รับเป็นรางวัลจากการแข่งขันใน Tokyo 2020 นั้น ผู้ที่ได้รับไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลเรื่องภาระภาษีแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลได้ออกกฎหมายมาตรา 42 (28) และกฎกระทรวงที่ 325 แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงที่ 126 ของประมวลรัษฎากร มาเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ไว้ให้แล้ว

เป็นการสนับสนุนนักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ รัฐจึงยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับเงินได้ที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นรางวัลจากการเข้าร่วมการแข่งขันรายการมหกรรมกีฬาและรายการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นระดับนานาชาติ

แต่ทั้งนี้ จะต้องระวังว่าการยกเว้นดังกล่าวจะต้องเป็นเงินรางวัลที่ให้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ค่าสปอนเซอร์ หรือการโฆษณาแฝง และในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ไม่มีประเด็นภาษีอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่การขายสินค้าหรือให้บริการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

ภาพ: นางสาวปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต

กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอีกกลุ่มหนึ่งคงหนีไม่พ้นเหล่าดาราศิลปินที่ส่วนมากต้องหยุดงานยาวจากการแพร่ระบาดของโควิด จากเดิมที่วงการบันเทิงไทยกำลังไปได้อย่างสวยงาม มีงานแสดง งานโชว์ตัว การโปรโมทสินค้า และโฆษณาในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นอย่างมากมาย จนมีแผนการทำกระแสข่าวว่ารายได้ค่าตัวในการแสดงต่อตอนหรือแต่ละงานอีเวนท์เท่าไหร่ อีกทั้งยังมีการจัดลำดับรายได้ค่าตัวว่าใครได้เยอะสุด

ซึ่งการทำกระแสข่าวต่างๆ ในโซเชียลมีผลต่อยอดผู้ติดตามในไอจี และท้ายที่สุดใครมียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้น ค่าตัวก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ทางกรมสรรพากรจึงเริ่มเพ่งเล็ง และติดตามค้นข้อมูลเชิงลึกว่าดาราศิลปินเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ จนทำให้มีเหตุการณ์ที่ต้องเข้าเจรจากับเจ้าพนักงานประเมิน และท้ายที่สุดหลายรายต้องยอมเสียภาษีย้อนหลังให้ถูกต้อง

ดาราศิลปินที่อยู่ในวงการมานาน และมีบริษัทต้นสังกัดหรือผู้จัดการส่วนตัวที่ชั่วโมงบินสูงๆ มักจะไม่ค่อยมีปัญหาภาษีให้ได้เจอเท่าไหร่ เพราะจะมีการจัดระบบการรับเงิน การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี และการเครดิตภาษีหัก ณ ที่จ่าย ชัดเจนสม่ำเสมอ แต่ก็ยังมีบางรายที่ใช้วิธีการเปิดบริษัท รายรับที่หลั่งไหลเข้ามาจึงถูกนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในนามของบริษัท โดยมีการจ้างผู้ทำบัญชีให้ช่วยดูแลจัดการหาค่าใช้จ่ายต่างๆ มาหัก ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้คือสิ่งที่กรมสรรพากรจับตามองว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นรายการที่จำเป็นต่อกิจการของบริษัทจริงหรือไม่

รายการส่วนใหญ่มักจะเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม เช่น เป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวมากกว่าเพื่อกิจการของบริษัท หรือเป็นกรณีซื้อใบเสร็จ ซึ่งใครที่นิยมซื้อใบเสร็จเพื่อหักรายจ่ายพึงต้องระวัง เพราะกรมสรรพากรมีรายชื่อขบวนการเหล่านี้ และหากนำใบเสร็จที่ออกโดยบุคคลดังกล่าวมาใช้หักรายจ่าย หรือใช้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจมีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหนังสือเรียกให้มาชี้แจง และมักจบลงโดยการถูกห้ามตัดรายจ่ายอยู่เนืองๆ แม้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเป็นรายการที่แท้จริง เป็นรายจ่ายอันจำเป็นและสมควร ก็ยังพลอยถูกเจ้าพนักงานตรวจสอบใช้อำนาจห้ามตัดรายจ่ายไปด้วย

ก่อนปี 2556 กฎหมายกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดที่ร้อยละ 37 ในขณะที่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 30 จากอัตราภาษีที่สูงในอดีต ดาราศิลปินจึงมักจะใช้วิธีเลี่ยงภาษีโดยการรับเงินค่าจ้างนอกระบบและไม่นำเงินได้มารวมยื่นแบบแสดงรายการ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก ถึงแม้ในปัจจุบันรัฐบาลได้ลดภาระภาษีบุคคลธรรมดาส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาทเหลือที่อัตราร้อยละ 35 ก็ตาม ก็ยังไม่จูงใจพอที่จะให้ดาราศิลปินที่มีเงินได้สูงๆ ทำใจเสียภาษีทุกบาททุกสตางค์อยู่ดี บางคนที่ได้รับงานระดับอินเตอร์บ่อยๆ ก็หันไปใช้บริษัทที่ตั้งขึ้นในต่างประเทศที่เป็นดินแดนปลอดภาษีรับเงินโดยหวังว่าจะไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ท้ายที่สุดหากตรวจสอบก็จำต้องรับผิดเสียภาษีย้อนหลัง

อย่างไรก็ดี หนึ่งในมาตรการของรัฐทางด้านการคลังที่ต้องการสนับสนุนระบบดิจิตัล และการใช้ e-Withholding Tax ตามที่เห็นชอบโดยมติครม. ได้ถูกนำมากำหนดเป็นกฎกระทรวง ฉบับที่ 373 ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยกำหนดว่าการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นการจ่ายค่าแสดงผ่านระบบ e-Withholding Tax ให้แก่นักแสดงสาธารณะซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีได้ดำเนินการตามวิธีนำส่งที่กำหนดตามมาตรา 3 ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะลดลงจากร้อยละ 5 เหลือเพียงแค่ร้อยละ 2

“ระบบ e-Withholding Tax เป็นหนึ่งในนโยบาย Tax From Home ที่กรมสรรพากรได้นำการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) มาใช้เพื่อให้การปฏิบัติการและชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ทุกที่ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนการลงทุนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19” คำกล่าวของอธิบดีกรมสรรพากร และยังกล่าวอีกด้วยว่า “ซึ่งจะช่วยคืนสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 24,840 ล้านบาท”

ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากรเลขที่ปชส. 15/2564

เป็นที่น่าสังเกตว่ากรมสรรพากรได้เคยวางแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ในการตรวจและแนะนำผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นนักแสดงสาธารณะไว้ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.102/2544 อีกทั้งคำนิยามในกฎกระทรวง ฉบับที่ 373 ที่กำหนดว่า “นักแสดงสาธารณะ” หมายความเฉพาะคือ “นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ” โดยที่ผู้ประกาศข่าว หรือพิธีกร และอีกหลายอาชีพในวงการบันเทิง เช่นผู้กำกับ ผู้จัดการส่วนตัว ไม่เข้าลักษณะเป็นนักแสดงสาธารณะ จึงไม่ได้สิทธิประโยชน์นี้

หลายคนอาจมองว่าการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือนักแสดงสาธารณะในช่วงโควิดที่แท้จริงแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลใช้เทคนิคในการกำหนดให้ผู้จ่ายเงินให้แก่ดาราศิลปินจะต้องหักภาษีและนำส่งให้แก่รัฐเป็นการล่วงหน้าก่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของดาราศิลปินในแต่ละปี ซึ่งการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะช่วยเป็นกลไกให้ดาราศิลปินที่ได้รับเงินไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีไปได้

นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่ตระหนักว่าผู้จ่ายเงินจะเข้าเงื่อนไขที่จะหักภาษีในอัตราร้อยละ 2 ได้ก็ต่อเมื่อต้องเลือกใช้วิธีการนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบธนาคารตามมาตรา 3 ปัณรส เท่านั้น โปรดดูสรุปตาม link ข้อมูล “หลักเกณฑ์การนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่มทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร (e-withholding Tax & VAT) – Law Alliance” https://www.lawalliance.co.th/ewithholdingtaxthaiversion/

ดังนั้น หากนักแสดงสาธารณะได้รับเงินค่าจ้างแล้ว ไม่ใช่ว่าจะได้สิทธิถูกหักภาษีในอัตราร้อยละ 2 นี้ได้ทันที แต่ขึ้นอยู่กับผู้จ่ายเงินด้วยว่าเป็นผู้ที่เข้าระบบตามเงื่อนไขของกฎหมายแล้วหรือไม่ และที่สำคัญยิ่ง ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนปลายปีก็ยังคงมีเช่นเดิม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top