SCB ผนึก ดิจิทัลเวนเจอร์ส ผุดแพลตฟอร์ม PayZave ช่วยคู่ค้าซัพพลายเชนรับจ่ายได้ทันที

นายธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์สร้างสรรค์บริการและเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจไทยให้ก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 ด้วยการร่วมงานกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส พัฒนา “PayZave” แพลตฟอร์มดิจิทัล ครั้งแรกของประเทศไทย ต่อยอดแนวคิด “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” ทลายกำแพงเครดิตเทอม สร้างมาตรฐานใหม่ในการชำระเงินระหว่างคู่ค้าให้รับ-จ่ายทันทีแบบไม่ต้องมีเครดิตเทอม

แพลตฟอร์ม PayZave จุดประสงค์เพื่อช่วยหนุนธุรกิจผู้ซื้อ ใช้ศักยภาพด้านการเงินช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินของซัพพลายเออร์ พลิกไอเดียจากระบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังสู่ทางเลือกใหม่ “จ่ายก่อนเซฟกว่า” ด้วยข้อตกลงส่วนลดการขายเมื่อจ่ายเงินทันที ผู้ซื้อเซฟต้นทุนค่าใช้จ่าย ผู้ขายได้เงินเร็ว สามารถทำธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องพึ่งสินเชื่อนอกระบบ สร้างสมดุลสภาพคล่องแบบวินวินสำหรับทุกคู่ค้า พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือ SME อย่างจริงใจ เปิดแพลตฟอร์มต้อนรับคู่ค้าซัพพลายเชนทุกรายในประเทศไทยสามารถใช้งานแพลตฟอร์มได้ฟรีตลอดปี 64 เพื่อช่วยให้ SME ไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

“ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างกว้างขวาง ธนาคารจึงพยายามทำความเข้าใจปัญหาของของลูกค้าเพื่อลงมือช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ซึ่งในส่วนของลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ของธนาคารเอง ผลกระทบหลักที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาต่อเนื่องซึ่งเกิดจากการขาดสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจของคู่ค้าซัพพลายเชนซึ่งเป็น SME รายเล็กๆ จนไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าให้ได้ตามข้อตกลง โดยพบว่าต้นตอของปัญหานี้ คือข้อกำหนดทางด้านเครดิตเทอมการชำระเงินซึ่งปกติมีระยะเวลา 45-60 วัน SME จึงขาดเงินหมุนเวียน

ดังนั้น PayZave จะช่วยให้คู่ค้าสามารถดำเนินการรับ-จ่ายค่าสินค้าระหว่างกันทันทีโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอม โดยทั้งสองฝ่ายจะทำข้อตกลงให้ส่วนลดการขาย เพื่อแลกกับการได้รับชำระค่าสินค้าก่อนครบรอบบิล โดยธนาคารจะให้การสนับสนุนทางการเงินกับผู้ซื้อในการชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น ได้สินค้าที่มีต้นทุนถูกลง และผู้ขายก็ได้เงินค่าสินค้าทันทีโดยไม่ต้องไปหากู้จากแหล่งเงินทุนอื่น ซึ่งเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์อย่างลงตัว”

นายธนวัฒน์กล่าว

ด้านนายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ระบบการเงินการธนาคารขณะนี้ยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่พอสมควร คือการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่อาจจะมีเกณฑ์ไม่ตรงตามกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในระหว่างโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยต้องหาทางออกด้วยการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบซึ่งมีดอกเบี้ยราคาแพง เพื่อนำมาหมุนเวียนในธุรกิจที่เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย

แพลตฟอร์ม PayZave จึงเกิดจากความต้องการช่วยเหลือซัพพลายเชนในช่วงโควิด-19 ด้วยการลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับซัพพลายเออร์รายเล็กๆ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า ด้วยแนวคิด “จ่ายก่อนเซฟกว่า” นำผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันโดยตรงเพื่อสร้างข้อตกลงการชำระเงินโดยไม่ต้องมีข้อจำกัดทางด้านเครดิตเทอม 45-60 วัน เมื่อไม่มีเครดิตเทอมจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งคนกลางหรือสถาบันทางการเงิน จึงช่วยให้ประหยัดต้นทุนทางธุรกิจได้ทั้งสองฝ่ายและประหยัดเวลาด้วยขั้นตอนที่รวดเร็ว สะดวกทำรายการออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อีกทั้งมีระบบ reconciliation (กระทบยอด) อัตโนมัติแบบเรียลไทม์อีกด้วย และหวังว่า PayZave จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ค้ารายใหญ่ที่มาร่วมมือกันช่วยเหลือคู่ค้ารายย่อยต่อสู้กับวิกฤตไปด้วยกัน โดยคาดว่าจะมีคู่ค้าเข้าใช้งานในระบบราว 80,000 ราย ในปี 64

ด้านนายสุภาพ จรัลพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ที.เอส. เอ็นจิเนียริ่ง (2004) จำกัด กล่าวว่า บริษัทดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมก่อสร้างมานานกว่า 30 ปี วิกฤตครั้งนี้รุนแรงและท้าทายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในธุรกิจก่อสร้างที่ซัพพลายเชนมีผลอย่างมากต่อความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 ต่างประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างมาก บริษัทจึงเกิดไอเดียว่าเราจะสามารถช่วยแบ่งเบาปัญหาสภาพคล่องให้กับซัพพลายเออร์เหล่านี้ได้อย่างไร จึงได้หารือกับธนาคารไทยพาณิชย์ และดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแพลตฟอร์ม PayZave ที่สามารถช่วยให้ซัพพลายเชนของบริษัทที่อยู่ทั่วประเทศขอรับเงินได้ทันทีเมื่อส่งมอบงานเรียบร้อย ทั้งยังใช้งานได้ง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ และระบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยลดอุปสรรคของธุรกิจและเป็นประโยชน์ต่อคู่ค้าทุกฝ่าย โดยปัจจุบันมีซัพพลายเออร์ของบริษัทขึ้นในระบบแล้วกว่า 1,500 ราย

ส่วนนายวาริช ภูสนาคม กรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด กล่าวว่า วิลล่า มาร์เก็ท ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับกระบวนการทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และได้ทำงานร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ และ ดิจิทัล เวนเจอร์ส มาหลายโครงการ บริษัทจึงยินดีที่จะมีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มนี้เพราะเป็นทางเลือกที่เข้าใจปัญหาของซัพพลายเชนอย่างแท้จริง ซึ่งบริษัทเองมีความใกล้ชิดกับซัพพลายเชนในธุรกิจอุปโภคบริโภคมากกว่า 1,000 ราย เข้าใจดีว่าในเวลานี้สภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าเพื่อช่วยเหลือคู่ค้าทุกรายให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top