สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 ลงเหลือขยายตัว 1.3% โดยมีช่วงคาดการณ์ 0.8% ถึง 1.8% เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือน เม.ย.64 ที่ 2.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งในช่วง 5เดือนแรกมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูง 14.5% ส่งผลให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยทั้งปี 64 จะขยายตัว 16.6% (ช่วงคาดการณ์ 16.1-17.1%) ปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 11%
ส่วนในปี 65 คาดว่า GDP จะเติบโตเร่งตัวขึ้นเป็น 4-5% จากการประเมินว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้น ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ กลับมาทำได้มากขึ้น และการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากมีการเดินทางระหว่างประเทศได้
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า สมมติฐานสำคัญในการปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในรอบนี้ ประกอบด้วย
- เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักสำคัญของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน นอกจากนี้ยังมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ประกอบกับแต่ละประเทศมีการใช้มาตรการทางการเงิน-การคลัง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่กดดันสำหรับเศรษฐกิจโลกในปีนี้ คือ การระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่, การกลายของไวรัสโควิด และมาตรการล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาระหนี้ และการจ้างงาน
- สถานการณ์ค่าเงินบาท โดย สศค.คาดว่า ณ สิ้นปี 64 ค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 31.48 บาท/ดอลลาร์ (กรอบ 31-32 บาท/ดอลลาร์) อ่อนค่าลงจากปี 63 ที่ -0.6% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 64
ทั้งนี้ เงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า จากผลของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวยังไม่เข้ามา ประกอบกับมีแนวโน้มไหลออกของเงินทุนต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่ไปยังตลาดสหรัฐ หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดี อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าเดิม
- ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ สศค.คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 66.70 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 57.9% จากปี 63 เป็นผลจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มสูงขึ้น หลังเศรษฐกิจแต่ละประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวและเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้จากที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้มากขึ้นในหลายประเทศ
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3 แสนคน ลดลงถึง 95.5% จากปี 63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6 ล้านคน ประมาณการรายได้การท่องเที่ยวปีนี้ที่ 20,000 ล้านบาท เฉลี่ยการใช้จ่ายต่อหัวที่ 72,000 บาท ส่วนการเปิด Phuket Sandbox ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 12,000 คน มีการจองห้องพักช่วง ก.ค.-ก.ย.64 แล้ว 2.8 แสนคืน
อย่างไรก็ดี แนวทางการผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยยังคงมีข้อจำกัด บวกกับรัฐบาลของแต่ละประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ยังมีข้อจากัดในการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลจีนที่ยังคงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยเดินทางออกนอกประเทศในรูปแบบของกรุ๊ปทัวร์ได้
ทั้งนี้ จากแผนการจัดหาวัคซีนของไทยมีความชัดเจนและคืบหน้ามากขึ้น และหากสามารถดำเนินการได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย จะสร้างภูมิคุมกันหมู่ให้กับประชากรในช่วงท้ายของปี 2564 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในปี 2565
- รายจ่ายภาคสาธารณะ ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 64 ล่าสุด 9 เดือนแรกเบิกจ่ายได้แล้ว 67.8% และคาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย 92.3% ขณะที่งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายไปแล้ว 2.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะทำได้ตามเป้าที่ 81% ด้านการเบิกจ่ายตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ล่าสุดจนถึงวันที่ 16 ก.ค.64 อนุมัติโครงการไปแล้วมากกว่า 300 โครงการ คิดเป็นวงเงินกว่า 9 แสนล้านบาท โดยยังเหลือวงเงินอีกราว 7 พันล้านบาท ขณะที่ พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาทคาดว่าปีนี้จะมีการเบิกจ่ายได้ 2 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 3 แสนล้านบาทจะสามารถเบิกจ่ายได้ในปี 65
โฆษกกระทรวงการคลัง มองว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือ และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม) ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้
โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐ จะขยายตัว 4.2% และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 9.5ต่อปี ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ 1.0% และการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 4.1%
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.2% ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล -2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น -0.5% ของ GDP จากการขาดดุลในดุลบริการเป็นสำคัญ
“ยอมรับว่าคลังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีปีนี้ลงมาค่อนข้างเยอะพอสมควร จากเหตุผลหลัก คือตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก แต่มองว่ายังมีเม็ดเงินจากภาครัฐ รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังสามารถจะพยุงเศรษฐกิจให้ไม่ขยายตัวติดลบได้ จึงออกมาเป็นตัวเลขที่ 1.3% ซึ่งในช่วงคาดการณ์ด้านต่ำตัวเลขจีดีพีก็ยังไม่ติดลบ แต่ก็ต้องมีการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์รายวันที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก”
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2564 ยอมรับว่าจะทำได้ต่ำกว่าประมาณการณ์อย่างน้อย 2 แสนกว่าล้านบาท โดยจากข้อมูลการจัดเก็บรายได้สะสมจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.64 พบว่า จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายแล้ว 1.9 แสนล้านบาท แต่ยังมีระยะเวลาเหลืออีกประมาณ 1 ไตรมาส ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป แม้ว่าการจัดเก็บรายได้จะไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่อยากให้หลายฝ่ายต้องกังวล เนื่องจากกระทรวงการคลังยังมีวงเงินกู้เพื่อรองรับการใช้จ่ายที่จำเป็นอยู่ ทั้งการกู้ขาดดุลงบประมาณ และการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ที่ยังสามารถรองรับรายได้ในส่วนที่หายไป และยังสามารถรักษาระดับเงินคงคลังภายในปีงบประมาณ 2564 อย่างน้อยที่ 4 แสนล้านบาทได้ จึงยังไม่มีข้อกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการเงินคงคลัง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 65 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วง 4-5% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง และมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน12 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-9 2. ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.ความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ 4. ทิศทางนโยบายการเงินโลกที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคง และมีเสถียรภาพทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ส่วนทิศทางหนี้สาธารณะที่คาดการณ์ว่าในสิ้นปีงบประมาณ 2564 จะอยู่ที่ระดับ 58.88% ต่อจีดีพีนั้น ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และ สศค.ได้หารือและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดย สบน. ยืนยันว่ายังสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ต่อจีดีพีได้ แต่หากมีการกู้เงินในรูปแบบต่าง ๆ จนส่งผลให้แตะหรือเกินกรอบวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถปรับขยายเพดานได้ โดยเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเป็นประธานให้พิจารณาขยายกรอบวินัยการเงินการคลังได้ตามสถานการณ์จำเป็น
น.ส.กุลยา ยังกล่าวถึงโครงการคนละครึ่งด้วยว่า ขณะนี้ได้เร่งหารือกับ Food Delivery Platform ไปแล้วประมาณ 5 ราย และหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งก่อนสรุปแนวทางเพื่อให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งสามารถใช้จ่ายผ่าน Food Delivery Platform ได้ทันภายในเดือน ต.ค.64 ซึ่งเป็นช่วงที่เม็ดเงินของโครงการคนละครึ่งก้อนใหม่จะออกมา ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการเพิ่มวงเงินในมาตรการคนละครึ่งนั้น ยังไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้
“ไม่อยากให้ต้องกังวล เพราะคนละครึ่งดำเนินการยาวถึงไตรมาส 4 ปีนี้ หากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้มาตรการก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากมีความต้องการเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม คลังก็พร้อมดำเนินการ ทั้งจากโครงการที่มีอยู่แล้ว หรือโครงการที่มีการเสนอเข้ามา เช่น ช้อปดีมีคืน ที่ควรดำเนินการตอนสถานการณ์ปกติ หากดำเนินการตอนนี้มาตรการจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควร ส่วนจะนำกลับมาใช้หรือไม่ ขอติดตามสถานการณ์ก่อน”
น.ส.กุลยา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 64)
Tags: GDP, กุลยา ตันติเตมิท, ส่งออก, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจไทย