- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 467,707 คน (+14,575)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 9,889 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 3,601 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 1,072 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 13 ราย
- รักษาหายแล้ว 320,152 คน (+7,775)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 143,744 คน (+6,686)
- เสียชีวิตสะสม 3,811 คน (+114)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,575 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 9,889 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 3,601 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,072 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 13 ราย มาจาก เมียนมา 6 ราย กัมพูชา ลาว ประเทศละ 2 ราย รัสเซีย จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศละ 1 ราย
- เสียชีวิตเพิ่ม 114 ราย เป็นชาย 61 ราย หญิง 53 ราย อายุ 14-94 ปี (อายุเฉลี่ย 64 ปี) โดยพบว่า เสียชีวิตที่บ้าน 3 ราย และในห้องฉุกเฉิน 1 ราย มาจากกทม. 49 ราย, ปทุมธานี 12 ราย, สมุทรสาคร 6 ราย, ยะลา สุราษฎร์ธานี ร้อยเอ็ด นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา จังหวัด 3 คน, เลย ชัยภูมิ อ่างทอง จังหวัดละ 2 คน, สมุทรปราการ นครปฐม นราธิวาส สงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช ระนอง ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุตรดิตถ์ เพชรบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด สระแก้ว จังหวัดละ 1 คน
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 467,707 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 320,152 ราย เพิ่มขึ้น 7,775 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 3,811 ราย
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,104 ราย สมุทรสาคร 1,067 ราย, สมุทรปราการ 837 ราย, ชลบุรี 669 ราย, ระยอง 516 ราย, ปทุมธานี 511 ราย, พระนครศรีอยุธยา 359 ราย, ฉะเชิงเทรา 352 ราย, นนทบุรี 305 ราย และปัตตานี 290 ราย
ซึ่งวันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้น ที่ จ.สมุทรสาคร ที่โรงงานอาหารกระป๋อง อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 20 ราย ที่โรงงานด้าย อ.กระทุ่มแบน พบผู้ติดเชื้อ 126 ราย, จ.ระยอง ที่แคมป์ก่อสร้าง อ.บ้านฉาง พบผู้ติดเชื้อ 26 ราย ที่บริษัทผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อ.ปลวกแดง พบผู้ติดเชื้อ 37 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยในกทม. 3,104 ราย ยังไม่นับผู้ป่วยที่ตรวจจาก Antigent test kit ซึ่งมีเพิ่มอีก 2 พันกว่าราย ซึ่งเป็นผลของการตรวจเชิงรุกในชุมชน ซึ่ง 1-2 วันนี้ทาง กทม.จะรวบรวมตัวเลขของการตรวจทั้งหมด และประกาศให้ประชาชนทราบว่าในแต่ละเขตประชาชนสามารถไปตรวจ Antigent test kit ในจุดใดได้บ้าง
ทั้งนี้ จากการรายงานของ กทม.พบว่า ในการตรวจเชิงรุก 100 ราย พบผู้ป่วยสูงถึง 11% แต่ถ้ามีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า จะมีผลยืนยันเป็นบวกตามมา 15 % นอกจากนี้ใ นกทม.ยังมีผู้ป่วยรอเตียงเพิ่มอีก 868 ราย โดยมีผู้ป่วยระดับสีแดง 40 ราย และจะเร่งเข้าสู่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และขณะนี้สามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว 121,457 ราย
นอกจากนี้ ภายใน 1-2 วันนี้ ทางกรุงเทพมหานคร จะจัดทำแผนที่เพื่อให้มีข้อมูลชัดเจนว่ากลุ่มผู้ป่วยแยกตามสีอยู่ในเขตไหนบ้าง และในขณะนี้ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครส่วนมากเป็นกลุ่มสีเขียวกว่า 70% ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลให้แยกกักตัวที่บ้าน และต้องประเมินตัวเองว่ามีอาการระดับไหน
“ในที่ประชุม กรมการแพทย์เน้นย้ำว่า เมื่อเข้าไปตรวจขอให้ท่านที่ได้รับผลยืนยันว่าบวก อันดับแรกขอเข้า Home Isolation กับโรงพยาบาลที่ท่านไปตรวจได้เลย คือโรงพยาบาลที่รับตรวจ ตอนนี้หลายโรงพยาบาลเริ่มทำระบบ Home Isolation”
พญ.อภิสมัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากไปตรวจที่ห้องแลปของโรงพยาบาลเอกชน หรือกลุ่มเอ็นจีโอ แต่ยังไม่มีโรงพยาบาลต้นสังกัด สามารถติดต่อสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1330 กด 14 ซึ่งจะพยายามเพิ่มคู่สายจาก 100 คู่สาย เป็น 200 คู่สาย และกสทช.จะมีการจัดหมายเลขสำนักงานเขต 50 หมายเลข เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น หรือ คนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ติดต่อไปที่สายด่วน 1506 กด 6
ทั้งนี้ สำหรับคนที่ไม่สะดวกที่เข้าระบบ Home Isolation ก็จะมีระบบการกักตัวที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation ซึ่งมีคนเข้าไปพักแล้ว 1,682 คน และมีการเปิด Community Isolation ในกทม.ไปแล้ว 22 เขต และจะเปิดอีก 14 เขต
“อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลวางแผนมาตรการเบื้องต้น ก็ขอให้ประชาชน สื่อมวลชน กำกับติดตามาตรการเหล่านี้ร่วมกัน อย่าถือว่า เป็นการจับผิด เพราะการทำงานของสาธารณสุข ของกทม. ของศบค.ยินดีรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ”
พญ.อภิสมัย กล่าว
ส่วนกรณีการขาดแคลนของบุคลากรทางการแพทย์นั้น พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ภายใน 1-2 วันนี้ จะมีการสรุปจำนวนโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับสีเหลือง สีแดง ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยน เช่น โรงพยาบาลบุษราคัมจะรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่ม โรงพยาบาลสนามสีเขียวที่มีอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนามสีเหลือง
นอกจากนี้ ในแง่ของบุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขก็มีความเป็นห่วง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือจากบุคลากรทางการแพทย์จากต่างจังหวัดเข้ามาช่วย กทม. และปริมณฑล แต่ขณะนี้ในหลายจังหวัดก็มีสถานการณ์ที่หนักขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการส่งบุคลากรทางแพทย์กลับไปยังพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ทางกรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข และภาคประชาสังคมต่าง ๆ รวมถึงสภากาชาดไทย จะมีการประชุมเวลา 15.00 น. ซึ่งจะมีการหารือทั้ง Home isolation และ Community isolation รวมทั้งเตียงในระดับสีเหลือง และสีแดง
“ต้องฝากไปยังสื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนว่า ในวันนี้สภาพจิตใจทุกคนย่ำแย่ แต่ถ้าเรารวมกัน เราสามารถอาศัยพึ่งพากัน ช่วยเหลือเป็นกระบอกเสียงซึ่งกันและกัน เชื่อแน่ว่า เราจะสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้”
พญ.อภิสมัย กล่าว
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 193,410,165 ราย เสียชีวิต 4,151,456 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 35,213,594 ราย อันดับ 2 อินเดีย 31,291,704 ราย อันดับ 3 บราซิล 19,524,092 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,054,711 ราย และอันดับ 5 ฝรั่งเศส 5,933,510 ราย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 49
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, ศบค., โควิด-19