รายงานข่าวจากหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบผ่อนผันแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ กลุ่มมติ ครม.วันที่ 20 ส.ค. 62, กลุ่มมติครม.วันที่ 4 ส.ค.63, กลุ่มมติ ครม.วันที่ 10 พ.ย. 63 และ กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงเพราะผลของกฎหมายสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษถึง 27 ก.ค. 65 โดยดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานถึง 13 ก.พ. 66 รวมทั้งปรับเปลี่ยนระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่ของแรงงานต่างด้าว จาก 30 วัน เป็น 60 วัน
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 อย่างมีประสิทธิภาพ จำต้องมีมาตรการแก้ไขข้อขัดข้อง และปรับปรุงกฎระเบียบบางประการ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งครม.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขข้อขัดข้อง ดังนี้
1) กลุ่มคนต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 62 ผ่อนผันระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ถึงวันที่ 27 ก.ค. 65 เพื่อให้คนต่างด้าวที่ประสงค์ทำงานต่อไปดำเนินการขออนุญาตทำงาน ภายใน 30 ก.ย. 64 หรือ 31 มี.ค. 65 แล้วแต่กรณีของระยะเวลาการอนุญาตทำงานเดิม รวมทั้งตรวจสุขภาพ และขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร ในกรณีที่เอกสารประจำตัวหมดอายุคนต่างด้าวต้องมีเอกสารฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุภายในวันที่ 27 ก.ค. 65 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66
2) กลุ่มคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 63 (กลุ่ม บต.23) ให้ดำเนินการตามกระบวนการเดิมจนแล้วเสร็จ ได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 31 มี.ค. 65 หากคนต่างด้าวประสงค์จะทำงานต่อไปให้ดำเนินการขออนุญาตทำงาน และขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรภายในวันที่ 31 มี.ค. 65 ในกรณีที่เอกสารประจำตัวหมดอายุคนต่างด้าวต้องมีเอกสารฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุภายในวันที่ 27 ก.ค. 65 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66
3) กลุ่มคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 63 (กลุ่ม MoU ครบ 4 ปี ตั้งแต่ 1 พ.ย. 63 – 31 ธ.ค. 64) ผ่อนผันระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ถึงวันที่ 27 ก.ค. 65 เพื่อให้คนต่างด้าวดำเนินการขออนุญาตทำงาน ตรวจสุขภาพ และขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรต่อไป ในกรณีที่เอกสารประจำตัวหมดอายุคนต่างด้าวต้องมีเอกสารฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุภายในวันที่ 27 ก.ค. 65 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากการอนุญาตทำงานเดิมสิ้นสุด
4) กลุ่มคนต่างด้าว 3 สัญชาติซึ่งใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย อาทิ กลุ่มที่ไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่เพื่อเข้าทำงานได้ทันภายใน 30 วัน ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผ่อนผันระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ถึงวันที่ 27 ก.ค. 65 เพื่อให้คนต่างด้าวดำเนินการขออนุญาตทำงาน ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศกระทรวงแรงงานมีผลบังคับใช้ และตรวจสุขภาพ ขอตรวจอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร ในกรณีที่เอกสารประจำตัวหมดอายุคนต่างด้าวต้องมีเอกสารฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่หมดอายุภายในวันที่ 27 ก.ค. 65 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จคนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงคนต่างด้าว ตามมติครม. 29 ธ.ค. 63 ที่มีแนวทางตามมติครม.เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 ในการดำเนินการ
5) การปรับเปลี่ยนระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่ของแรงงานต่างด้าวจากภายใน 30 วัน เป็น 60 วัน นับแต่วันที่เลิกทำงานกับนายจ้างรายเดิม สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติครม.เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 62 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 63 (กลุ่ม บต.23) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 63 รวมถึงกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามระบบ MoU โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 66
ในส่วนของการออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ทางการเมียนมา จะออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) ให้กับคนเมียนมาที่มีเอกสาร CI แล้ว แต่เอกสารดังกล่าวทยอยหมดอายุ โดยตั้งศูนย์บริการ จำนวน 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ครม.ลงมติเห็นชอบ จนถึง 27 ก.ค. 65 สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติลาว และกัมพูชา สามารถขอเอกสารดังกล่าวได้ที่สถานเอกอัครราชทูตตามสัญชาติของตนที่ประจำอยู่ในประเทศไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 64)
Tags: หอการค้าไทย, แรงงาน, แรงงานต่างด้าว