โบรกเกอร์ มองสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางกระทบหุ้นที่มีต้นทุนน้ำมันสูง สถานการณ์อาจส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เชื่อไม่ถึงขั้นสงครามแต่อาจยืดเยื้อ
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ส่งผลทำให้เกิด Sentiment เชิงลบต่อตลาดหุ้นที่ถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยงได้รับแรงกดดัน ทำให้หุ้นทั้งกระดานปรับตัวลงเกือบทั้งหมดยกเว้นหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการโยกเม็ดเงินจากสินทรัพย์เสี่ยงไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย
ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อความเชื่อมั่นในแง่ของอารมณ์ของการลงทุน จึงแนะนำนักลงทุนให้ระมัดระวังการลงทุนในช่วงนี้ โดยเลือกหุ้น defensive เช่น หุ้นกลุ่มสื่อสาร อย่าง ADVANC, INTUCH, หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า อย่าง GULF,BGRIM, GPSC, หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล อย่าง BCH, CHG แม้วันนี้จะมีปัจจัยลบ แต่มองว่าหุ้นที่อ่อนตัวเป็นจังหวะเข้าสะสม รวมถึงหุ้นที่จ่ายปันผลดี
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า หุ้นที่น่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ตะวันออกกลางเป็นหุ้นที่มีราคาน้ำมันเป็นต้นทุนหลัก เช่น หุ้นกลุ่มขนส่ง ทั้งเดินเรือ ได้แก่ PSL, TTA และเดินอากาศหรือสายการบิน ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ AAV, NOK และ THAI จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบดังกล่าวไปก่อน
แต่หากต้องการลงทุน แนะนำ “เก็งกำไรระยะสั้น” ในหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยดูปัจจัยพื้นฐานและอัพไซด์ประกอบ
ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า สถานการณ์ตะวันออกกลางอาจจะไม่ได้นำไปสู่การเกิดสงครามที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง แต่คาดว่าจะส่งผลยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ และทำให้ตลาดฯ ปรับตัวขึ้นลงผันผวนตามสถานการณ์ที่เข้ามากระทบ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลดีต่อราคาน้ำมันให้ปรับตัวขึ้น และส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่น ปิโตรเคมี ปรับตัวขึ้นในระยะแรก แต่ในระยะยาวอาจจะส่งผลเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มนี้ เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันไม่ได้มาจากความต้องการใช้ที่สูงขึ้น แต่มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนพลังงานปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็จะส่งผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย
โดยหุ้นที่น่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ SCC และ IVL ขณะเดียวกันก็มองหุ้นกลุ่มอุปโภคและบริโภคน่าจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งด้วย โดยหุ้นที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มค้าปลีก อย่าง CPALL
นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มขนส่งทางอากาศ ท่องเที่ยว โรงแรม ก็น่าจะได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมด เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าว ก็จะส่งผลต่อเส้นทางการบินที่ลดลง หรือยกเลิกเส้นทางบินที่บินผ่าน หรือแวะพักในตะวันออกกลาง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ก็จะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยงที่อาจหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามประเทศ ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังโรงแรมที่อัตราการเข้าพักก็จะลดลง ประกอบกับขณะนี้ก็มีเรื่องโรคระบาดใหม่จากจีนเข้ามาด้วย
นอกเหนือจากหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบแล้ว มองว่ายังมีหุ้นที่ได้รับประโยชน์นอกจากหุ้นกลุ่มพลังงานแล้ว ยังมีหุ้นกลุ่มยูทิลิตี้ส์ โรงไฟฟ้า ที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงหุ้นกลุ่มสินค้าเกษตร ที่ได้รับผลบวกจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แนะนักลงทุนในระยะนี้ลงทุนในหุ้นที่มีปันผลดี และหุ้น defensive
ขณะที่นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีความไม่สงบในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นมองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะความไม่สงบในตะวันออกกลางเกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้สหรัฐก็เคยโจมตีประเทศอื่นในตะวันออกกลางมาแล้ว จึงมองว่าผลกระทบจะเกิดอยู่ในกลุ่มจำกัด และจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น
ดังนั้น จึงมองว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่น่าจะมีมากนัก และราคาน้ำมันก็คงจะไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างประเทศสหรัฐ ปรับตัวมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันแล้ว ขณะที่ประเทศจีนเองก็มีแหล่งน้ำมันเป็นของตนเองด้วย จึงมองว่าจะไม่เกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันเหมือนกับในอดีตอีก
“เรามองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางจะเกิดขึ้นระยะสั้นและอยู่ในกลุ่มนั้นเท่านั้น หากจะเกิดขึ้นใหญ่ๆ เลยคงจะไม่ดีกับทั้ง 2 ฝ่าย คงไม่กระทบมากนัก ราคาน้ำมันก็จะไม่พุ่ง เพราะสหรัฐก็เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน จีนก็มีแหล่งน้ำมันของตัวเอง การจะเกิดวิกฤตน้ำมันก็ไม่มีเหมือนอดีต” นายกวี กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยืดเยื้อและกระทบต่อราคาน้ำมันให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้ชะลอตัวลง จึงควรระมัดระวัง และแนะนำให้ชะลอการลงทุนไว้ก่อนในช่วงนี้
“เรามองกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยไว้ที่ 1,500-1,700 ในปี 63 นี้ ซึ่งในเวลานี้เราแนะนำให้ชะลอการลงทุนรอดูสถานการณ์ต่างๆก่อน ด้วยระดับ P/E ตลาดหุ้นไทยปัจุบันที่ 16 เท่า ค่อนข้างตึง แต่อย่างไรก็ตามหากดัชนีลงต่ำกว่า 1,550 เป็นจุดที่เริ่มเข้าลงทุนได้” นายกวี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 63)
Tags: ตลาดหุ้นไทย, ตะวันออกกลาง, หุ้นไทย, อิหร่าน