สัมภาษณ์พิเศษ: SNNP หุ้นขนมสัญชาติไทยสู่เป้าใหญ่ “โกลบอลแบรนด์”

เข้าสู่เส้นทางบริษัทจดทะเบียนผ่านการระดมทุนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) สำหรับหุ้น SNNP หรือ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง ประกาศราคาขาย IPO ที่ 9.20 บาทต่อหุ้น เปิดขายนักลงทุนรายย่อยเมื่อวันที่ 7-9 ก.ค. และเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันจองซื้อวันที่ 12-14 ก.ค.

ด้วยทุนจดทะเบียน 480 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 960 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท แบ่งเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 360 ล้านบาท และหุ้น IPO เสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันไม่เกิน 240 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด พร้อมนำหุ้น SNNP เข้าซื้อขายวันแรกช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนก.ค.นี้

ธุรกิจหลักของ SNNP เป็นหนึ่งผู้นำกลุ่มของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวหลากหลายแบรนด์ชื่อดังที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเป็นสัดส่วน 45% ของยอดขายรวม ประกอบด้วย เจเล่ คูลลี่คูล ไดยาโมโตะ ฮีโร่บอยส์ และ อควาวิตซ์ 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเป็นสัดส่วน 55% ของยอดขาย ประกอบด้วย เบนโตะ ทาโกะ โลตัส ช๊อคกี้ และเบเกอรี่เฮาส์ เป็นต้น

*รากฐานแกร่งบุกหนักตลาดต่างแดนอัพยอดขาย

นายชยุตม์ หลีหเจริญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานบัญชีและการเงิน SNNP เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ตลอด4-5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมุ่งขยายการลงทุนทุกมิติเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สร้างฐานการผลิตและขยายช่องทางการกระจายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โครงสร้างปัจจุบันแบ่งสัดส่วนประมาณ 80% มาจากยอดขายในประเทศ และสัดส่วน 20% มาจากยอดขายในต่างประเทศซึ่ง 3 ใน 4 เป็นตลาด CLMV ที่เหลือเป็นการกระจายตลาดสำคัญของโลก อาทิ จีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, แถบตะวันออกกลาง, แถบยุโรป และสหรัฐฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตบริษัทวางเป้าหมายมุ่งขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศ โดยเน้นตลาดหลัก คือ กลุ่ม CLMV และประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานที่ใช้ฐานการผลิตในกัมพูชาแล้ว และเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.64 ได้เริ่มตอกเสาเข็มโรงงานในเวียดนามคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จช่วงกลางปี 65 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโรงงานที่เป็นฐานการผลิตรวม 6 แห่ง ครอบคลุมตลาดประเทศ CLMV+Tรวม 5 ประเทศ รวมประชากรที่สามารถขยายฐานลูกค้าจำนวนกว่า 250 ล้านคน

นายชยุตม์ กล่าวว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัทจะใช้โมเดลการกระจายสินค้าจากตัวแทนผ่านช่องทางชายแดน แต่ยอดขายกลับไม่ได้เติบโตตามเป้าหมาย เป็นที่มาของการเริ่มตั้งโรงงานผลิตสินค้าประเทศกัมพูชาก่อนจะเข้าสู่แผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าประเทศเวียดนาม เป็นจุดเริ่มต้นการเข้าไปทำการตลาดด้วยตัวเองไปทำความรู้จักตัวแทนยี่ปั๊วและซาปั๊วและจัดตั้งทีมเพื่อเจาะกลุ่มร้านค้าขายปลีกติดต่อกับโมเดอร์นเทรดและกำหนดโปรโมชั่นด้วยตัวเอง

“การเจาะตลาดต่างประเทศเราเปลี่ยนโมเดลจากเดิมสินค้านำเข้ากลายเป็นสินค้าในท้องถิ่น (Local Brand) ทำให้สามารถปรับราคาขายสินค้าเป็นราคาตลาดและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการใช้วัตถุดิบในประเทศนั้นผลิตเป็นสินค้าควบคุมต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันบริษัทมุ่งให้ความสำคัญมากเรื่องการตลาดสร้างการรับรู้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง สะท้อนจากแบรนด์สินค้า เจเล่ ,เบนโตะ เป็นผู้นำครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดในกลุ่มสินค้าประเภทเดียวกัน รวมถึงแบรนด์สินค้าอื่นๆของบริษัทค่อนข้างได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไม่ใช่แค่เฉพาะผู้บริโภคคนไทยเท่านั้น แต่เป็นผู้บริโภคในตลาดภูมิภาคอาเซียนด้วย บริษัทมุ่งให้ความสำคัญเรื่องการทำงานวิจัย (R&D) เพื่อทำการตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

*สร้างบันไดตีตลาดใหญ่ประเทศจีน

นายชยุตม์ กล่าวต่อว่า บริษัทกำลังเข้าไปขยายตลาดประเทศจีนมากขึ้นเพราะมองเห็นโอกาสการเติบโต โดยปัจจุบันเริ่มบันไดขั้นที่หนึ่งและขั้นที่สองไว้แล้วเพื่อสร้างฐานให้มีความมั่นคง ด้วยการจัดตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าไปเมื่อเดือน พ.ค.64 และภายในไตรมาส 3/64 บริษัทจะเริ่มเปิดร้าน official store ในแพลตฟอร์มช่องทางออนไลน์ และในไตรมาส 4/64 จะเริ่มดีลกับตัวแทนจำหน่ายแต่ละมณฑลเพื่อกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดประเทศจีนมากขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าเป็นตลาดประเทศจีนจะมีมูลค่าที่ใหญ่มาก แต่ยอมรับว่ายังเร็วเกินไปที่ไปตั้งฐานการผลิตในประเทศจีนเหมือนกับกัมพูชาและเวียดนาม เพราะมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างซับซ้อนหลายเรื่อง ดังนั้นตัวแปรที่จะเพิ่มยอดขายในช่วงนี้คือการมุ่งเน้นฐานการผลิตในไทยและกัมพูชารวมถึงเวียดนาม น่าจะช่วยผลักดันทิศทางยอดขายสามารถเติบโตได้อย่างชัดเจนช่วงกลางปี 65 ดังนั้นมองว่าเร็วเกินไปที่จะตอบคำถามว่าจะไปสร้างโรงงานใช้เป็นฐานการผลิตในประเทศจีนช่วงเวลานี้

“ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นการขยายตลาด CLMV ที่มีเตรียมความพร้อมมาตลอดระยะเวลา 4-5 ปี ระหว่างประเทศจีนเราก็พาดบันไดรอไว้ในการขยายกิจการในอนาคต”

*เล็งเปิดตัวผลิตภัณฑ์เจาะกลุ่มผู้บริโภคตลาดกัญชง

นายชยุตม์ กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากสารสกัดพืชกัญชงและกัญชา บริษัทมองเป็นโอกาสสร้างยอดขายตอบโจทย์ตามความนิยมของผู้บริโภค โดยผลิตภัณฑ์คาดว่าจะนำมาออกสู่ท้องตลาดก่อน คือ เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวผสมสารสกัดจากเมล็ดกัญชง (Hemp Seed) ที่มีโปรตีนสูง

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นั่นคือ กลุ่มสินค้าภายใต้แบรนด์ “เจเล่ บิ้วตี้” คาดว่าหากมีความชัดเจนจากทางหน่วยงานอาหารและยา (อ.ย.) ของจีนแล้วน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็สามารถวางสินค้าในท้องตลาดได้ และด้วยฐานการส่งออกสินค้าของบริษัทที่มีหลายประเทศน่าจะสามารถต่อยอดขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศได้เช่นกัน

“ปัจจุบันบริษัททำ Research ค่อนข้างลึกมากเรื่องนี้ ยกตัวอย่างว่า หากนำสินค้าที่เป็นขนมมาทำให้เด็กรับประทานกลุ่มผู้ปกครองจะมองแบรนด์สินค้าอย่างไร แต่บริษัทก็ตกผลึกว่าต้องเข้าไปหาโอกาสจากตลาดดังกล่าว ปัจจุบันได้เซ็น MOU กับ ม.นเรศวร เพื่อพัฒนาต้นน้ำในอุตสาหกรรมกัญชาและกัญชง เช่น การคัดเลือกสายพันธุ์ รวมถึงกลางน้ำที่นำสารสกัดจากกัญชงและกัญชามาใช้เป็นวัตถุดิบทั้งสาร CBD และสารสกัดจากเมล็ดกัญชง”

*เข้า SET ปูทางสู่แผน 5 ปีรายได้โต 2 เท่าสานฝัน “Global Brand”

นายชยุตม์ กล่าวอีกว่า จากแผนการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯครั้งนี้ บริษัทจะนำไปชำระหนี้กับสถาบันการเงินและเป็นเงินทุนหมุนเวียน และซึ่งส่วนหนึ่งของเงินทุนก็จะนำไปขยายการลงทุนฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม และที่สำคัญคือโครงสร้างฐานงบการเงินใหม่ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายช่วยขยายกิจการได้อย่างประสิทธิภาพต่อไปในระยะยาว

แม้ว่าการเข้าตลาดหุ้นบริษัทจะรับเงินทุนเข้ามา แต่การลงทุนสร้างพื้นฐานแข็งแกร่งทั้งการขยายฐานการผลิตในต่างประเทศขยายช่องทางการขาย และการสร้างแบรนด์สินค้า บริษัทมีการลงทุนมาแล้วช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้วันนี้บริษัทมีความพร้อมมากที่สามารถรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืน เบื้องต้นตั้งเป้ารายได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า (64-69) จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า หรือมีรายได้แตะ 8,000 ล้านบาทมีตัวแปรหลักขับเคลื่อนยอดขายคือการเติบโตในตลาดต่างประเทศภายใต้แบรนด์หัวหอกคือ เจเล่ ,เบนโตะ ,และโลตัส

“จุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อโรงงานเวียดนามก่อสร้างแล้วเสร็จ บริษัทจะสามารถปรับราคาขายสอดคล้องกับการแข่งขันในตลาดของประเทศเวียดนามได้อย่างแข็งแกร่ง”

นายชยุตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (61-63) อาจจะมีเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามาและยอดขายลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับโครงสร้างธุรกิจช่วง 5 ปีที่แล้วตามแผนการลงทุนปรับปรุงการผลิตและขยายฐานการผลิตในต่างประเทศใช้งบลงทุนกว่า 800-900 ล้านบาท และลงทุนก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทเอง พร้อมกับลงทุนบริษัทย่อยดำเนินการจัดจำหน่ายสินค้าได้แก่ บริษัท สิริ โปร จำกัด มีจำนวน 11 ศูนย์กระจายสินค้า และมีทีม Cash Van ครอบคลุมกว่า 70,000 ร้านค้า ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงแรกปี 2562-2563

แต่ล่าสุด บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง เข้ามาร่วมทุนในบริษัท สิริ โปร จำกัด ร่วมถือหุ้น 30% หลังจากการเพิ่มทุนแล้วบริษัทจะเหลือถือหุ้นบริษัท สิริ โปร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ประมาณ 50% ทำให้บริษัทมีการบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาในไตรมาส 1/64 จากการปรับโครงสร้างถือหุ้นในบริษัท สิริ โปร จำกัด อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจช่วงปี 63 หลังเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 2/63 เป็นวิกฤติของผู้ประกอบการทุกคน แต่หลังจากนั้นแนวโน้มผลการดำเนินงานบริษัทก็เริ่มกลับมาดีขึ้น น่าจะเห็นสถานการณ์งบการเงินปี 64 จะการกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง

อนึ่ง สำหรับการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 (ม.ค.-มี.ค.) บริษัทฯประสบความสำเร็จอย่างสูง แม้เผชิญปัจจัยลบจากโควิด-19 แต่บริษัทมีรายได้รวม 1,239 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการขาย 1,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 172 ล้านบาท เป็นการเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 นับเริ่มจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในการดำเนินงาน ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 63 โดยต้นทุนขายต่อรายได้อยู่ที่ 73.7% ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริการต่อรายได้อยู่ที่ 20% หรือลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ กำไรสุทธิดังกล่าวมีรายการพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินลงทุนในบริษัทย่อยรวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น 128 ล้านบาท

“ปัจจุบันบริษัทก้าวเข้าสู่ “Regional Brand” เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเข้าไปสร้างแบรนด์สินค้าในอาเซียน เป็นผลจากที่บริษัททำงานหนักมาตลอด 5 ปี และเชื่อว่าอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะก้าวขึ้นสู่ “Global Brand” ได้เช่นกันเพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความหลากหลายมากที่ผ่านมามองเห็นว่าหลายสินค้าที่ไม่ใช่ผู้บริโภคชาวเอเชียก็ได้รับความสนใจเช่นกัน”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top