นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ได้เป็นตัวแทน Asian Shippers’ Alliance (ASA) นำประเสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญ คือ การขาดแคลนตู้สินค้าและระวางเรือ(Space) และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ต่อเวทีสัมมนาของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เพื่อร่วมหารือในปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ สถานการณ์อัตราค่าระวางที่เพิ่มขึ้น และข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งสอดคล้องกับที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ทราบถึงปัญหา และขอให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในระยะยาว
โดยได้นำเสนอเหตุที่มาของปัญหา อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้
- แรงงานและประสิทธิภาพท่าเรือในหลายประเทศลดลง
- การปิดกิจการและโรงงานผลิตชั่วคราว
- การส่งออกของจีนฟื้นตัว และอุปสงค์สหรัฐและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
- ประเด็นคลองสุเอซ และการหยุดชะงักอื่นของการปฏิบัติงานในท่าเรือที่สำคัญหลายแห่ง ข้อจำกัดของการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้เกี่ยวข้องซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ 1) ความแออัดของท่าเรือและระยะเวลาการขนส่งจากท่าเรือถึงท่าเรือนานขึ้น 2) เรือล่าช้ากว่ากำหนดส่ง ผลต่อการหมุนเวียนคอนเทนเนอร์ช้าลงทั่วโลก 3) ตู้คอนเทนเนอร์ และระวางเรือขาดแคลน ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในเอเชีย อาทิ
1. ระยะเวลาการรอโหลดสินค้าขึ้นเรือแม่ ณ ท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้ายาวนานมากขึ้น
2. ระยะเวลาขนส่งสินค้านานขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่มูลค่าโลก
3. ระยะเวลาขนส่งนานขึ้น ส่งผลต่อการชำระเงินนานขึ้นสำหรับเทอมการค้าบางเงื่อนไข ทำให้เกิดปัญหากระแสเงินสดแก่ผู้ส่งออก
4. ความล่าช้าของตารางเดินเรือที่เกิดจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์กับการบริหารจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศ เช่น ผู้ขนส่งสินค้า ตัวแทนเรือ ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือ บริษัทรถบรรทุก ลานกองตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น
5. การเพิ่มขึ้นของต้นทุนคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง เนื่องจากสต็อกสินค้าสำเร็จรูปจำนวนมหาศาล
6. ผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว เป็นต้น
อนึ่ง สรท. ร่วมกับ Asian Shippers’ Alliance (ASA) ประกอบด้วย สภาผู้ส่งสินค้าจากชาติพันธมิตรในเอเชีย ได้สรุปข้อเสนอแนะต่อประชาคมโลก เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย
1. ยกระดับเพื่อสะท้อนบทบาทของผู้ส่งออกที่ปัจจุบันการส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงติดปัญหาในเรื่องของต้นทุนโลจิสติกส์ และค่าใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Charge) รวมถึงขาดแคลนในเรื่องของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จะรองรับประสิทธิภาพของเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
2. ผลักดันและร่วมมือกับหน่วยภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศที่ที่กำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเพื่อตรวจสอบการให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม
3. ส่งเสริมความร่วมมือของสภาผู้ส่งออกในแต่ละประเทศ อาทิ
- 3.1 การแลกเปลี่ยนข้อมูลความพร้อม และปริมาณของตู้คอนเทนเนอร์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากแต่ละประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประยุกต์ใช้ในประเทศภาคีสมาชิก
- 3.2 เร่งเจรจากับผู้ให้บริการสายเรือ เพื่อรับประกันพื้นที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมีเพียงพอ
- 3.3 สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ด้านการขนส่ง เพื่อการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ได้สะดวกมากขึ้น
- 3.4 ศึกษารูปแบบทางเลือกในการขนส่งระหว่างประเทศอื่น เช่น การขนส่งทางรถ และทางราง เป็นต้น
- 3.5 สนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตและซ่อมตู้คอนเทนเนอร
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า
1. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ตลอดทั้ง Global Supply Chain ได้แก่ ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า บริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประทศ สายการเดินเรือ รวมถึงผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ คลังสินค้า ดังนั้นจึงควรผลักดันการหารือสู่เวทีระดับโลก ให้มีการพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกโดยด่วน
2. หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าในแต่ละประเทศ ต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนากลไกควบคุมการแข่งขันและการกำหนดอัตราค่าระวางและค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยอาจกำหนดหรือจัดทำข้อเสนอแนะทางกฎหมายให้มีการกำหนดนโยบายด้านราคาของผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์มีความชัดเจน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นโยบายมีความน่าเชื่อถือ ตลอดจนช่วยให้การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันมีประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงการสร้างเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันก่อนบังคับใช้กฎหมาย
3. แม้รัฐบาลหลายประเทศมีแนวคิดในการจัดตั้งสายการเดินเรือ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการลดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มปริมาณระวางขนส่ง ลดการขาดดุลค่าระวางเรือ และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือของประเทศตน อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงสภาพการแข่งขันที่รุนแรงของสายเรือที่มุ่งเน้นการสร้างเส้นทางให้บริการที่ครอบคลุม และเชื่อมโยงท่าเรือและเส้นทางการค้าหลักและรองทั่วโลก และมุ่งลดต้นทุนด้วยการประหยัดต่อขนาดการขนส่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับเรือขนาดเล็กที่มีเงินทุนจำกัดในการลงทุนเพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว และสถานการณ์ในระยะยาวของตลาดขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งอาจกลับเข้าสู่วัฏจักรขาลงในอนาคตอันอาจทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นหนี้สินของประเทศ
4. แต่ละประเทศควรยกระดับการจัดการระบบข้อมูลตู้สินค้าเข้าออกรายวันอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาปริมาณตู้สินค้าขาดแคลน และ 5. แต่ละประเทศต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งระดับประเทศ (National Digital Trade Platform) และระดับภูมิภาค (Regional Digital Trade Platform) ตลอดจนระบบดิจิทัลในอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีภายในประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 64)
Tags: ขนส่งทางทะเล, ขนส่งทางเรือ, ชัยชาญ เจริญสุข