นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่การส่งออกของไทยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% จากปีก่อน เนื่องจากทิศทางการส่งออกมีแนวโน้มที่ดี จากภาพรวมสินค้าส่งออกของไทยที่มีการเติบโตทุกชนิด ยกเว้นข้าว และน้ำตาล
โดยการส่งออกในเดือน พ.ค. มีการขยายตัว 41.59% จากการเติบโตจากทั้งฝั่งสหภาพยุโรป, กลุ่ม CLMV, กลุ่มอาเซียน, ประเทศจีน และสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างการเติบโตให้มากขึ้น สรท.แนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคในการส่งออก โดยการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มแรงงาน และการเพิ่มการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่า
“สรท.มั่นใจคงเป้าการส่งออกปีนี้เติบโตที่ 7% ทั้งนี้ หากสามารถแก้ปัญหาอุปสรรคในการส่งออกได้ทั้งหมด คาดว่าจะสามารถขยายการส่งออกแตะที่ 10% ได้ ในช่วงครึ่งปีที่เหลือ หากสามารถทำยอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกทั้งปีอาจสามารถแตะที่ 15% ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูสถานการณ์ในช่วง 1-2 เดือนนี้อีกครั้ง”
นายชัยชาญ กล่าว
โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตในปี 64 ได้แก่
- การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายตามปกติ
- ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า
- ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากแรงหนุนความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ทั่วโลกที่เริ่มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 64 ได้แก่
- ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น
- สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ เช่น กรณีคลัสเตอร์การระบาดในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ ที่เริ่มส่งกระทบต่อกระบวนการผลิตที่ต้องหยุดชั่วคราว ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยจะเห็นได้จากการปรับประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศ (GDP) ลดลงจาก 3.0% เหลือ 1.8% ในปี 64
- ปริมาณปัจจัยการผลิตที่ไม่เพียงพอ และมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เช่น
- 1) สถานการณ์ชิปขาดแคลนที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการหยุดผลิตรถบางรุ่น รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ และ Smart phone
- 2) ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูง จากปริมาณอุปสงค์การใช้เหล็กที่เพิ่มสูงตามทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก
- 3) ปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกไม่เพียงพอ เช่น น้ำตาลทราย เนื่องจากปริมาณอ้อยที่ลดลง และราคาทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกษตรกรเริ่มหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น มันสำปะหลัง และข้าวโพด
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง และอยู่ในทิศทางขาขึ้นเกือบทุกเส้นทาง หลังจากปริมาณการขนส่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
“ประเทศไทยควรมีการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาจำนวน 150,000 ตู้/เดือน จากในเดือนเม.ย.-พ.ค.64 ที่มีการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเดือนละ 130,000 ตู้/เดือน เท่านั้นซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยเกินไป”
นายชัยชาญ กล่าว
ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้ดำเนินการเร่งฉีดวัคซีคให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานภาคการผลิต เพื่อสร้างการเติบโตของภาคการส่งออก ซึ่งจำเป็นต้องมีแรงงานในระบบเทียบเท่ากับปี 61 ที่จำนวน 200,000 คน วัคซีนถือเป็นเครื่องป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพียงอย่างเดียวที่สามารถช่วยภาคการส่งออก และภาคการผลิต ซึ่งเป็นซัพพลายเชนของการส่งออกได้ ในขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวที่สามารถฟื้นตัว และสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศให้อยู่รอดต่อไปได้ในสถานการณ์นี้
โดย สรท. ได้คาดการณ์การส่งออกรายอุตสาหกรรมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แบ่งเป็นการฟื้นตัว 3 ช่วง คือ
- อุตสาหกรรมที่มีการฟื้นตัวแล้ว (การฟื้นตัวแบบ V Shape) ได้แก่ ยางพารา 30% ผลิตภัณฑ์ยางพารา 15%, อุตสาหกรรมอาหาร 5%, ชิ้นส่วนยานยนต์ 10-15%, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7%, เม็ดพลาสติก-ผลิตภัณฑ์พลาสติก 20-30% และเคมีภัณฑ์
- อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 3-4/64 (การฟื้นตัวแบบ U Shape) ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 10-15%, สินค้าไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป 3-5% เนื่องจากมีการชะลอการผลิตจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน, ยานยนต์ 10-15% จากปัญหาการขาดแคลนชิป, มันสำปะหลัง 30% และวัสดุก่อสร้าง
- อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 3/65 เป็นต้นไป (การฟื้นตัวแบบ L Shape) ได้แก่ น้ำตาล -18% และข้าว 0%
อย่างไรก็ดี ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.64) ไทยมีมูลค่าการส่งออกรวม 108,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 107,141 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 21.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,494 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุล 600 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ และน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนม.ค.-พ.ค. การส่งออกขยายตัว 17.13%)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 64)
Tags: CLMV, ชัยชาญ เจริญสุข, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งออก, สรท., อาเซียน, เศรษฐกิจไทย