‘สมคิด’ สั่งคลังออก พ.ร.ก.กู้เงินกว่า 2 แสนลบ.กระตุ้นเศรษฐกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการออกพระราชกำหนดกู้เงิน (พ.ร.ก.กู้เงิน) กว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบกับการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 พร้อมเร่งจัดทำมาตรการระยะ 3 ซึ่งจะเน้นการใช้จ่ายของประชาชนในท้องถิ่น เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 กระทบหนักกว่าต้มยำกุ้ง

“ได้มีการหารือกันว่าถ้าจะอัดมาตรการชุดใหญ่ออกมา ต้องเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น ให้ถือเอาวิกฤติครั้งนี้มาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่น ส่วนงบประมาณที่จะใช้ยังไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอน แต่เข้าใจว่าต้องใช้งบก้อนใหญ่พอสมควร ส่วนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินขึ้นอยู่กับความจำเป็น ระยะเวลา ถ้าต้องทำก็สามารถทำได้เลย ทุกคนเข้าใจ ไม่น่าจะมีอะไร เพราะทางกระทรวงการคลังเตรียมตัวเรื่องนี้มาเป็นเดือน วงเงินอาจจะมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่มีปัญหา ฐานะการคลังแข็งแกร่ง ส่วนเรื่องการเกลี่ยงบประมาณปี 2563 ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนเงินงบประมาณ”

นายสมคิด กล่าวภายหลังเรียกประชุมด่วนหน่วยงานด้านตลาดเงินและตลาดทุน โดยมีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมทั้งสมาคมธนาคารไทย ธนาคารกรุงไทย

นายสมคิด กล่าวว่า ภาพรวมเบื้องต้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 3 จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยทำให้เกิดการจ้างงาน เพื่อทำให้เกิดรายได้ หลังจากประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าในภาวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดนิ่ง

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่เริ่มหยุดชะงัก ประชาชนส่วนใหญ่ถูกจำกัดให้อยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งในส่วนของรัฐบาลต้องพยายามแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาดนี้ให้จบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเศรษฐกิจที่ถูกกระทบนาน ๆ จะยิ่งเสื่อมลง ดังนั้นหากแก้ปัญหาช้าเท่าไหร่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น

“ชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะเน้นให้สอดคล้องกับสภาพความจริงที่เกิดขึ้น โดยยึดน้อมนำโครงการที่เกี่ยวข้องกับแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ เพื่อให้งบประมาณกระจายสู่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการนำไปใช้ในกิจกรรมที่สร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นให้มีการผลิต การจ้างงาน การตลาด” นายสมคิด กล่าว

ส่วนการที่ ธปท.ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ลงมาเป็นติดลบรุนแรงถึง -5.3% นั้น คงต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้หนัก ไม่เหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งที่ GDP ติดลบไปราว -10% กว่า

“ตอนนั้นคนที่มีเงินเจ็บตัว คนจนไม่เจ็บตัว เพราะเกษตรดี ท้องถิ่นดี แต่ครั้งนี้ทั้งคนจนและคนรวยเจ็บตัวกันหมด ขอให้ทุกคนรู้ว่าทำอะไรในอนาคตเป็นเองที่สำคัญกว่า ไม่ต้องไปสนใจว่า GDP จะลบอย่างไร เพราะมันลบกันทั้งโลก”

นายสมคิด กล่าว

ด้านนายอุตตม กล่าวว่า การออก พ.ร.ก. กู้เงิน กำลังเตรียมการวงเงินที่ใช้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ใหญ่คือ ต้องการเข้าไปดูแลขีดความสามารถเศรษฐกิจในพื้นที่จากปัญหาเฉพาะหน้า คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลกำลังดูแลด้วยการส่งเงินให้ประชาชนโดยตรง ถือเป็นการดูแลผลกระทบเฉพาะหน้า แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปเศรษฐกิจยังต้องมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะเดินหน้าได้ ถ้าไม่มีการดูแลและปล่อยให้เปลี้ยก็จะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้

“เรื่องการกู้เงิน ในความเห็นผม ทำได้ แต่ขอให้รอเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ชัดเจน ก็จะได้เห็นตัวเลข และจะได้เห็นว่าจะเอาเงินตรงนี้ไปใช้ทำอะไรในช่วงเวลาที่เหมาะสม”

นายอุตตม กล่าว

ผู้ว่าธปท. เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาแล้วเห็นตรงกันว่าภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุด เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว แต่ก็มองว่าไม่ตรงจุดเท่ากับนโยบายที่มีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เหมือนที่รัฐบาลทำนโยบายช่วยเรื่องคนตกงาน ซึ่งจะตอบโจทย์ภาวะนี้

ทั้งนี้ ธปท.คาดหวังว่าแต่ละธนาคารจะมีโครงการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติมจากแนวปฏิบัติมาตรการขั้นต่ำ ซึ่งฐานลูกค้าแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน สิ่งที่เป็นปัญหาคือขั้นตอนติดต่อกับธนาคารผ่าน call center ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็ว จึงกำชับให้มีการใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และ ธปท.จะติดตามอย่างตามใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ส่วนการจัดชั้นหนี้เสีย (NPL) ขณะนี้ยังไม่มีการปรับเงื่อนไขแต่อย่างใด

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเรียกร้องของลูกค้า เรื่องภาระการชำระเงินต้น และดอกเบี้ย ขณะนี้ธนาคารสามารถเลื่อนกำหนดชำระเงินต้นได้หากมีความต้องการเข้ามา ส่วนการขอเลื่อนหรือลดดอกเบี้ย ก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป ขณะเดียวกันสภาพคล่องของกิจการต่าง ๆ มาตรการของรัฐที่ออกไปคือซอฟท์โลน 1.5 แสนล้านบาท และยังมีมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนเรื่องหลักประกัน วงเงิน 6 หมื่นล้านบาทที่พร้อมให้บริการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top