แอสตร้าเซนเนก้า เผยผลการวิเคราะห์ย่อยจากการทดลองใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ในการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ทั้งจากการเว้นระยะการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่ 2 เป็นระยะเวลากว่า 45 สัปดาห์ และการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
ศาสตราจารย์ เซอร์ แอนดริว เจ พอลลาร์ด หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและผู้อำนวยการกลุ่มวัคซีน (Oxford Vaccine Group) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า ประเทศที่ยังมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปริมาณน้อยและอาจกำลังกังวลต่อความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนโดสที่ 2 สำหรับประชาชนในประเทศ จะมั่นใจและลดความกังวลได้ เพราะเราพบว่าแม้จะเว้นระยะห่างจากโดสแรกนานกว่า 10 เดือน วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าโดสที่ 2 ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดฉบับก่อนตีพิมพ์ในวารสาร เดอะ แลนเซต ระบุว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส มีผลทำให้ระดับแอนติบอดีในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี
การเว้นระยะในการฉีดวัคซีนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าโดสแรก และโดสที่ 2 ห่างกันนาน 45 สัปดาห์ มีผลกระตุ้นให้ระดับแอนติบอดีในร่างกายเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า เมื่อมีการอ่านค่าแอนติบอดี 28 วันภายหลังการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 พบว่าระดับแอนติบอดีจากการเว้นระยะระหว่างวัคซีนโดสแรกและโดสที่ 2 นาน 45 สัปดาห์ มีสูงกว่าระดับแอนติบอดีจากการเว้นระยะห่างระหว่างโดส 12 สัปดาห์ ถึง 4 เท่า บ่งชี้ว่าการเว้นระยะห่างระหว่างโดสที่นานขึ้นไม่ก่อให้เกิดผลเชิงลบ แต่ช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นได้
นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า โดสที่ 3 ห่างจากโดสที่ 2 เป็นระยะเวลา 6 เดือน สามารถกระตุ้นระดับแอนติบอดีให้เพิ่มขึ้นได้ 6 เท่า และส่งเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เซลล์ในร่างกาย
อีกทั้งยังพบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าโดสที่ 3 มีศักยภาพสูงขึ้นในการป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7 หรือสายพันธุ์เคนท์), สายพันธุ์เบตา (B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2 หรือสายพันธุ์อินเดีย)
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าโดสที่ 2 ซึ่งเว้นระยะห่างขึ้น และโดสที่ 3 พบการเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่ำกว่าการฉีดวัคซีนโดสแรก
เซอร์ เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceuticals) กล่าวว่า การค้นพบว่าวัคซีนของเรา สามารถกระตุ้นให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและยาวนาน มีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันในระยะยาว โดยเรามุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และพันธมิตรทั่วโลก เพื่อประเมินผลจากการค้นพบครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง
การทดลองในกลุ่ม COV001 และ COV002 ในครั้งนี้ มีอาสาสมัครอายุ 18-55 ปี ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ทั้งที่ได้รับเพียง 1 หรือ 2 โดส
*วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือชื่อ Vaxzevria ในสหภาพยุโรป (เดิมเรียก AZD1222)
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ถูกคิดค้นและพัฒนาร่วมกับโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัท วัคซีเทค ซึ่งก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์ จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 80 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีปทั่วโลก ตามเกณฑ์การให้วัคซีนสองโดสแรกห่างกัน 4-12 สัปดาห์สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ากว่า 600 ล้านโดสได้ถูกส่งมอบให้แก่กว่า 170 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกว่า 100 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์ โดยในสหราชอาณาจักร โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า
การศึกษากลุ่ม COV001 จากการวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 ในกลุ่มควบคุมแบบสุ่มแบบอำพรางฝ่ายเดียว เพื่อประเมินวัคซีน AZD1222 ในด้านความปลอดภัย ความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผล ซึ่งมีจำนวนอาสาสมัครจำนวน 1,077 รายจากศูนย์ทดลอง 5 แห่งในสหราชอาณาจักร โดยอยู่ในกลุ่มอายุ 18-55 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรง กลุ่มอาสาสมัครสุ่มได้รับวัคซีน AZD1222 จำนวน 1 หรือ 2 โดส ซึ่งมีปริมาณอนุภาคไวรัสที่ 5×1010 หรือวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น MenACWY หนึ่งโดส
มีการนำตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครไปตรวจในช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่วันแรก วันที่ 28 วันที่ 184 และวันที่ 364 เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้อาสาสมัครซึ่งสมัครเข้าร่วมการทดลองระยะที่หนึ่งและอยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนสองโดสได้รับการตรวจสอบในวันที่3 วันที่ 7 วันที่ 14 และวันที่ 28 หลังจากได้รับวัคซีนแต่ละโดส
การศึกษากลุ่ม COV002 จากการวิจัยในระยะที่ 2 และ 3 ในกลุ่มควบคุมแบบสุ่มแบบอำพรางฝ่ายเดียว จากศูนย์วิจัยหลายแห่งเพื่อประเมินวัคซีน AZD1222 ในด้านความปลอดภัย ประสิทธิผลและความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีอาสาสมัครจำนวน 12,390 ราย ในสหราชอาณาจักรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ประกอบด้วยผู้มีสุขภาพแข็งแรงและอาสาสมัครที่โรคประจำตัวซึ่งยังควบคุมอาการได้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัส SARS-C0V-2 มากกว่าบุคคลทั่วไป กลุ่มอาสาสมัครสุ่มได้รับวัคซีน AZD1222 หนึ่งหรือสองโดส จากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งมีปริมาณอนุภาคไวรัสเทียบเท่ากับครึ่งโดส (มีจำนวนอนุภาคไวรัสที่ ~2.5 x 1010) หรือ เต็มโดส(มีจำนวนไวรัสที่ ~5 x 1010 ) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น MenACWY
มีการนำตัวอย่างเลือดของอาสาสมัครไปตรวจในช่วงเวลาต่างๆ เป็นเวลา 1 ปีหลังการฉีดวัคซีน เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน อาสาสมัครที่แสดงอาการใกล้เคียงกับการติดเชื้อ จะต้องตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเทคนิค PCR นอกจากนั้น ยังมีการเก็บเชื้อในโพรงจมูกไปตรวจสอบทุกอาทิตย์ เพื่อตรวจการติดเชื้อและเก็บข้อมูลด้านประสิทธิผลของวัคซีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19