สบน.ยัน “มูดี้ส์” ลด Outlook ไทยไม่กระทบตลาดเงิน-ตลาดทุน ยังไร้สัญญาณขยายเพดานหนี้

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงกรณีบริษัท มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลด Outlook ของไทย จาก Stable เป็น Negative ครั้งนี้ ถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 17 ปี ตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หลังจากนั้นอีก 2 ปี คือในปี 2553 ไทยได้ถูกปรับ Outlook ขึ้นมาอยู่ในระดับ Stable ก่อนที่ในปี 2562 ไทยถูกปรับ Outlook ไปเป็น Positive ก่อนที่จะปรับมาเป็น Stable อีกครั้ง เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นการปรับทั้งโลก

การปรับลดมุมมองในครั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยความเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาค และส่งผลกระทบทางอ้อมมายังเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารวมถึงประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวอยู่เหนือความควบคุมของรัฐบาลไทย แม้จะยังไม่สามารถประเมินระยะเวลาและความรุนแรงได้อย่างชัดเจน แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ทำให้กองทุนการเงิระหว่างประเทศ (IMF) มีการปรับลดอัตราการเติบโตในปี 2568 จาก 3.3% เป็น 2.8% ซึ่งไม่เพียงแค่ไทยเท่านั้นที่ได้รับ Negative Outlook จากปัจจัยดังกล่าว แต่ยังมีประเทศอื่นที่ถูกปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศลงเช่นกัน โดยประเทศอื่นที่ถูกปรับลดมุมมองไปก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2566-2567 เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งด้านการค้า สะท้อนถึงแนวโน้มความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินอีก 5 แสนล้านบาท

“ครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมาย แต่ต้องยอมรับว่าตกใจบ้าง เพราะถ้าดูปัจจัยจากตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่แม้แต่ IMF ก็ยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลง ดังนั้นเรื่องสหรัฐฯ จึงเป็นสิ่งที่มีผลกระทบอยู่แล้ว แต่ก็น่าดีใจว่าแม้จะมีการปรับ Outlook ลง แต่ผลกระทบกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด แถมในภาพรวมทุกอย่างยังดีขึ้นด้วย ถือว่าน่าแปลกใจ จากที่ประมวลข้อมูลดูว่าตลาดเงินและตลาดทุนที่คาดว่าอาจจะเกิดช็อก แต่ปรากฏว่าไม่มีอาการช็อก แถมยังดีกว่าปกติด้วยซ้ำ เพราะตลาดน่าจะรับข่าวไม่ดีไปพอสมควรแล้ว อย่างตลาดเงิน ตลาดทุนแทบจะไม่มีผลกระทบเลย หุ้นยังเป็นบวก นักลงทุนต่างชาติยังเข้าซื้อ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่มีผลกระทบใด ๆ โดยเราก็ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นายพชร กล่าว

แต่ยอมรับว่าการปรับ Outlook ของประเทศไทยจากมูดี้ส์ในครั้งนี้อาจจะมีผลบ้างในเรื่องการปรับตัวเข้าสู่สมดุลทางการคลัง ที่มูดี้ส์มองว่าอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลาง (MTFF) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายในเชิงโครงสร้าง และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่การเติบโตของผลิตภาพในภาคการผลิตยังอยู่ระดับต่ำ อาจกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้

ส่วนเรื่องภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ นั้น รัฐบาลได้มีการเตรียมแนวทางรอบรับผลกระทบไว้อยู่แล้ว ทั้งแผนระยะสั้น กลางและยาว โดยบริบทยังอยู่ระหว่างการรอเจรจา

นายพชร กล่าวอีกว่า ภาคการคลังนั้นอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ และลดภาระการคลังระยะกลางและระยะยาว ขณะที่การบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ยืนยันว่ายังอยู่ในบริบทที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมูดี้ส์เองยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2% ขณะที่ IMF ประเมินว่าจะขยายตัวต่ำกว่า 1.8% ก็ยังไม่มีผลกระทบกับการบริหารจัดการหนี้ของไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ตามแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเดิม ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวที่ 3% และในปี 2569 ที่ 2.9% และมองไปในอีก 3-4 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยจะขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 69% ต่อจีดีพีเท่านั้น ยังอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะ โดยทั้งหมดยังเป็นการประเมินก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่หลังจากที่มูดี้ส์ได้มีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยลงมาที่ 2% นั้น สบน. ได้มีการประเมินว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะจะพุ่งไปแตะ 70% ต่อจีดีพีในปี 2570 หรือหากเศรษฐกิจขยายตัวลงไปถึง 1.5% หนี้สาธารณะก็อาจจะเกิน 70% ต่อจีดีพีเล็กน้อยในปี 2570 ดังนั้นหากยังอยู่ในบริบทนี้ สบน. เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้

“ตัวเลขทั้งหมดอยู่ภายใต้สมมุติฐานว่ารัฐบาลยังไม่ได้มีการออกกฎหมายกู้เงินใด ๆ เพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้ สบน. เองก็ยังไม่ได้รับสัญญาณแต่อย่างใด แต่กรณีถ้าหากมีการกู้เพิ่มจริง เพดานหนี้ก็จะเต็มเร็วขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องดูคือ รัฐบาลไม่ได้กู้เงินมาเก็บ แต่เป็นการกู้เพื่อมาลงทุน ดังนั้นก็ต้องมาดูว่าถ้าจะกู้เพิ่มแล้วลงทุน จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ สบน. ไม่ได้บอกว่ากู้ครบแล้วทุกอย่างจะเหมือนเดิม แต่ข้อมูลทั้งหมดก็ต้องปรับไปตามข้อเท็จจริง แต่ในระยะ 3-4 ปีจากนี้ เรายังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ดังนั้นการทำงบประมาณแบบขาดดุลยังมีความจำเป็น แต่ก็ยืนยันว่า ณ วันนี้ถ้าดูตามตัวเลขต่าง ๆ ก็ยังไม่มีสัญญาณให้ต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ เว้นแต่ต้องรอดูเรื่องการจัดเก็บรายได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดตอนนี้” ผู้อำนวยการ สบน. ระบุ

นายพชร กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะมีการจัดอันดับจากอีก 2 สถาบัน คือ S&P และ ฟิทช์ เรทติ้ง ซึ่งน่าจะมาในช่วงปลายปีงบประมาณ 2568 ภายใต้ความผันผวนในตลาดโลกที่ค่อนข้างเร็ว ก็อาจจะมีข่าวดีเกิดขึ้นได้ ดังนั้นระหว่างนี้มีเวลาอีกหลายเดือน รฐบาลจะต้องดำเนินการทั้งการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าสามารถรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างยั่งยืนและมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงนโยบายที่เชื่อว่ากระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการอยู่แล้ว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top