
บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) ผู้นำด้านบริการสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัย เรียกร้องให้องค์กรทั่วโลกแสดงความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เนื่องในวันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสากล (World Day for Safety and Health at Work) เพราะการล้มป่วยและบาดเจ็บจากการทำงานยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวลในระดับสากล ขณะที่ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยทุก ๆ ปีมีพนักงานราว 2.93 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (89%) รวมทั้งจากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากการปฏิบัติงาน (11%)
อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากกว่า 75% มีสาเหตุมาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิต เนื้องอก และโรคระบบทางเดินหายใจ1 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและการสัมผัสมลพิษถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพนักงาน ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานอย่างเคร่งครัด
ดร. โอลิวิเยร์ โล ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ฝ่ายบริการอาชีวอนามัย บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ อันตรายที่เกิดขึ้นในที่ทำงานซึ่งเกี่ยวข้องกับร่างกายและจิตใจของพนักงานนั้น มักมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดด้านการกำกับดูแลองค์กรและการจัดสรรทรัพยากร ทั้งนี้ หน้าที่ในการดูแลพนักงานเป็นเรื่องที่ไม่สามารถต่อรองได้ การละเลยเรื่องเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงทั้งต่อบุคลากรและเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่การรับมือกับปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้วิธีการแบบองค์รวมที่มีแบบแผน โดยคำนึงว่าสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานทั่วโลกเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันและไม่สามารถแยกจากกรอบการดำเนินงานในภาพรวมขององค์กรได้ นอกจากนี้ การบูรณาการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วในที่ทำงาน ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่าเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและอาจจะทำให้เกิดอันตรายในรูปแบบใหม่ได้
ข้อมูลจากรายงานฉบับใหม่ล่าสุดของมูลนิธิ อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS Foundation) ชี้ว่า ถึงแม้ว่าพนักงานและองค์กรต่างมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายในที่ทำงาน แต่พนักงานทั่วโลกส่วนใหญ่กลับไม่เคยได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (62%) อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีหลายภาคส่วนที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง แต่องค์กรจำนวนมากก็แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงาน องค์กรมากกว่า 70% ได้รวมมาตรการส่งเสริมสุขภาพจิตไว้ในนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานแล้ว
อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ได้นำเสนอวิธีการดูแลที่ทำงานให้อยู่ในสภาพที่ดีต่อสุขภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ดังนี้
1. ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างละเอียด ด้วยการบ่งชี้และประเมินอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในที่ทำงาน ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ การยศาสตร์ และจิตสังคม
2. ส่งเสริมวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพและสุขภาวะในที่ทำงาน ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน ซึ่งรวมถึงการเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ารับบริการด้านสุขภาพ เข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมสุขภาวะ และเข้ารับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต
3. จัดให้มีการฝึกอบรมอย่างครอบคลุม เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะที่จำเป็นให้แก่พนักงานในการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย โดยครอบคลุมถึงการบ่งชี้อันตราย แนวปฏิบัติในการทำงานอย่างปลอดภัย ตลอดจนมาตรการรับมือในกรณีฉุกเฉิน
4. พัฒนาแผนการจัดการภาวะวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุในสถานที่ทำงาน ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานให้เหลือน้อยที่สุด
5. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพจิต ด้วยโปรแกรมสนับสนุนสุขภาวะทางจิตของพนักงาน รวมถึงลดการตีตราทางสังคม และเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต
6. บรรเทาความเสี่ยงจากชั่วโมงการทำงานที่มากจนเกินไป ด้วยการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำงานล่วงเวลามากเกินไป โดยครอบคลุมถึงการวางกลยุทธ์ในการบริหารปริมาณงาน และการดูแลให้พนักงานมีวันลาหยุดตามความเหมาะสม
7. ทบทวนและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจสอบและประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงตามความจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโปรแกรมดังกล่าวได้รับการพัฒนาอยู่เสมอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)
Tags: International SOS, อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส