BOI เผยยอดส่งเสริมลงทุน Q1/68 โต 20% มูลค่าเงินลงทุนกว่า 4.3 แสนลบ.

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยแนวโน้มการลงทุนในไทยในปี 68 ยังเติบโตสูง และได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปีนี้ มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านจำนวนโครงการและเงินลงทุน ในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 822 โครงการ เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 431,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97% สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อศักยภาพของประเทศไทย

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูง ได้แก่ ดิจิทัล 94,735 ล้านบาท (40 โครงการ) อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 87,814 ล้านบาท (122 โครงการ) ยานยนต์และชิ้นส่วน 23,499 ล้านบาท (72 โครงการ) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 17,517 ล้านบาท (102 โครงการ) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 13,942 ล้านบาท (81 โครงการ) เกษตรและแปรรูปอาหาร 12,719 ล้านบาท (61 โครงการ) การท่องเที่ยว 9,261 ล้านบาท (10 โครงการ) และการแพทย์ 8,034 ล้านบาท (25 โครงการ)

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 618 โครงการ เพิ่มขึ้น 43% เงินลงทุนรวม 267,664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62%

โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ฮ่องกง 135,159 ล้านบาท จีน 47,308 ล้านบาท สิงคโปร์ 38,075 ล้านบาท ญี่ปุ่น 25,111 ล้านบาท ไต้หวัน 4,756 ล้านบาท เนเธอร์แลนด์ 2,142 ล้านบาท มาเลเซีย 1,919 ล้านบาท ไอร์แลนด์ 1,628 ล้านบาท ฝรั่งเศส 1,531 ล้านบาท นอร์เวย์ 1,418ล้านบาท ตามลำดับ

เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีมูลค่า 246,555 ล้านบาท จาก 444 โครงการ รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 152,525 ล้านบาท ภาคใต้ 17,256 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,551 ล้านบาท ภาคตะวันตก 3,980 ล้านบาท และภาคเหนือ 2,930 ล้านบาท ตามลำดับ

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart และ Sustainable Industry) ซึ่งเป็นการลงทุนปรับปรุงกิจการเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีผู้ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกปี 68 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 82 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,548 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต และการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในกิจการ

สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรกของปี 68 มีจำนวน 776 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 582,225 ล้านบาท โดยประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติเหล่านี้ คาดว่าจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 1.9 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 43% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด เกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 60,000 ตำแหน่ง และทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3.9 แสนล้านบาท/ปี ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดมีจำนวน 660 โครงการ เงินลงทุนรวม 236,778 ล้านบาท

เล็งปรับมาตรการส่งเสริมลงทุน รับมือโจทย์ใหม่เศรษฐกิจ

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การลงทุนในไตรมาสแรก แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมของการลงทุนในประเทศไทยที่ยังมีอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา แต่จากนี้ไป นโยบายภาษีของสหรัฐฯ การแบ่งขั้วและการกีดกันทางเทคโนโลยีของประเทศมหาอำนาจ จะทำให้ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งจากสหรัฐฯ จีน และคู่แข่งในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ให้ได้รับโอกาสสูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในครั้งนี้

“นโยบายส่งเสริมการลงทุนขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือเพิ่มเติมกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อเตรียมเสนอบอร์ดปรับเปลี่ยนมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และสามารถตอบโจทย์ทิศทางใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานที่มีคุณค่าสูง การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมทุน การใช้วัตถุดิบในประเทศ การรักษาระดับการแข่งขันให้เหมาะสม รวมทั้งการปกป้องอุตสาหกรรมบางประเภทที่ผู้ประกอบการไทยมีความเปราะบาง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนที่ไม่ได้มีเพียงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ แต่ยังจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย และคนไทยได้อย่างแท้จริง” นายนฤตม์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 เม.ย. 68)

Tags: , ,
Back to Top