เกษตรฯ คุมเข้มผลไม้ส่งออกปลอดสารเคมี ส่งรายชื่อล้งให้จีนตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ว่า ที่ประชุมฯ ได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าผลไม้ (ทุเรียน ลำไย และมะม่วง) ระหว่างไทยกับจีน โดยย้ำเรื่องการดูแลสุขอนามัยพืชให้ปลอดสารเคมี (Food Safety) และเร่งส่งรายชื่อล้ง (โรงคัดบรรจุผลไม้) ที่มีความปลอดภัยสูงจำนวน 307 ล้ง ไปให้ทางการจีนตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวสินค้าเกษตรไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแผนติดตามและบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่กำลังจะออกผลผลิตสู่ท้องตลาด ได้แก่ เตรียมการบริหารจัดการน้ำ การควบคุมผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ป้องกันการสวมสิทธิ์ การเพิ่มประสิทธิภาพห้องปฏิบัติการตรวจรับรองผล การสุ่มตรวจคุณภาพผลไม้อย่างเข้มข้น การส่งเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกรเตรียมการรับมือภัยแล้งและพายุฤดูร้อน (Climate Change) และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการบริโภคผลไม้ในประเทศ รวมถึงอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างแดนและข้ามแดน

“กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัย เพื่อส่งต่อให้กระทรวงพาณิชย์ทำงานได้สะดวกในด้านการส่งออกและการกระจายสินค้าภายในประเทศ โดยขอให้คณะกรรมการและทุกภาคส่วน บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษามาตรฐานและยกระดับสินค้าเกษตรไทยอย่างเคร่งครัด อีกทั้งช่วยป้องกันผลผลิตล้นตลาด ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ และผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี” นางนฤมล กล่าว

ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผน/มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 ด้านตลาดและการตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์ด้านการผลิตการตลาดในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และดำเนินการจัดหาคำสั่งซื้อล่วงหน้า ผ่านภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ในพื้นที่แหล่งบริโภคที่มีศักยภาพสูง (Thai Fruits Festival) เช่น ห้าง Modern Trade ห้างท้องถิ่น ตลาดกลาง ตลาดค้าส่ง-ค้าปลีก แหล่งชุมชน งานธงฟ้า ฯลฯ เพื่อเร่งเชื่อมโยงระบายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตในช่วงที่ออกสู่ตลาดมากต่อไป

อีกทั้งร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สนับสนุนบรรจุภัณฑ์พร้อมค่าขนส่ง (กล่องขนาดบรรจุ 10 กก. และตะกร้า 5 กก.) รวม 200,000 ชิ้น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งให้กับเกษตรกร ในการจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง ผ่านช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่งกำหนดเป้าหมายบริหารจัดการผลไม้ 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.68) อยู่ที่ 122,500 ตัน

สำหรับสถานการณ์การผลิตและข้อมูลไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2568 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ปี 2568 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 996,047 ไร่ เพิ่มขึ้น 37,439 ไร่ หรือ 3.91% จากปี 2567 ที่มีจำนวน 958,608 ไร่ เนื้อที่ให้ผลรวม 745,430 ไร่ เพิ่มขึ้น 64,592 ไร่ หรือ 9.49% จากปี 2567 ที่มีจำนวน 680,838 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,742 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 274 กิโลกรัม หรือ 18.66% จากปี 2567 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,468 กิโลกรัม ปริมาณผลผลิตรวม 1,298,482 ตัน เพิ่มขึ้น 299,271 ตัน หรือ 29.95% จากปี 2567 ที่มีจำนวน 999,211 ตัน

โดยปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิดในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา หลังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และสภาพอากาศแปรปรวน ปริมาณผลผลิตน้อย ทำให้ได้พักต้นสะสมอาหาร สภาพต้นสมบูรณ์ พร้อมออกดอกติดผลได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับปีนี้ สภาพอากาศหนาวเย็น เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นทั้ง 4 ชนิด ประกอบกับทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมา เริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้นจำนวน 72,908 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 14.69%

ทั้งนี้ แม้ในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกชุกในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.68 ทำให้ดอกและผลเล็กร่วง แต่ภาพรวมผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา สำหรับการกระจายตัวของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน ก.พ.-ต.ค.68 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือน พ.ค.68 คิดเป็น 40.87% ของผลผลิตทั้งหมด

ส่วนสถานการณ์การผลิต และข้อมูลประมาณการไม้ผลภาคใต้ ปี 2568 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ของ 14 จังหวัดภาคใต้ ปี 2568 มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 1,256,652 ไร่ เพิ่มขึ้น 42,637 ไร่ หรือ 3.51% จากปี 2567 ที่มีจำนวน 1,214,015 ไร่ เนื้อที่ให้ผลรวม 1,000,882 ไร่ เพิ่มขึ้น 30,811 ไร่ หรือ 3.18% จากปี 2567 ที่มีจำนวน 970,071 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 923,250 ตัน เพิ่มขึ้น 210,844 ตัน หรือ 29.60% จากปี 2567 ที่มีจำนวน 712,406 ตัน

โดยปริมาณผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิดในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากสภาพอากาศหนาวเย็น เอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล ขณะที่ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ และสภาพอากาศแปรปรวน ปริมาณผลผลิตน้อย จึงทำให้ได้พักต้นสะสมอาหาร สภาพต้นสมบูรณ์พร้อมออกดอกติดผลได้อย่างเต็มที่ โดยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นทั้ง 4 ชนิด ประกอบกับต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมา เริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ภาพรวมผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา

สำหรับการกระจายตัวของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.68 โดยจะออกกระจุกตัวสูงสุดในเดือน ส.ค.68 มีปริมาณ 250,382 ตัน หรือคิดเป็น 27.12% ของผลผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตของไม้ผลทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำในหลายพื้นที่ให้เพียงพอ

ทั้งนี้ เกษตรกรควรเตรียมความพร้อมรับมือใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กักเก็บน้ำ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำ และหน่วยงานที่ข้องเร่งบูรณาการวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอ เพื่อรองรับการผลิตผลไม้ภาคใต้ตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 68)

Tags: , ,
Back to Top