ดัชนีอนาคตศก.ภูมิภาคเม.ย.ชะลอตัว ตามแนวโน้มภาคเกษตร-ภาคบริการ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนเมษายน 2568 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ที่ชะลอตัวในหลายภูมิภาค ตามแนวโน้มเศรษฐกิจในภาคเกษตรและภาคบริการที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจยังปรับตัวเพิ่มขึ้นในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจในภาคเกษตรเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ควรติดตามสภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ และความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด

– ภาคเหนือ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 73.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม จากการจัดกิจกรรมและนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การขยายตัวของภาคการส่งออก อุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมที่มีต่อเนื่อง และคาดว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมแปรรูป

– ภาคตะวันตก

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 72.1 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดี โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุน ตามแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีอย่างต่อเนื่อง

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 71.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ และภาคเกษตร จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ขณะที่ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี

– ภาคตะวันออก

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 70.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวได้ดี โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคบริการและภาคเกษตร จากมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง และนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนข้างหน้า จะเป็นช่วงปลายฤดูฝนและต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยว และการออกเรือเพื่อจับสัตว์น้ำของชาวประมง ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ยังส่งสัญญาณบวกต่อเนื่องที่ระดับ 70.1

– ภาคกลาง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 66.8 โดยมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มของภาคเกษตรและภาคบริการ ตามแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐและท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนมีความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ

– ภาคใต้

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 66.0 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ปรับตัวได้ดี โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามฤดูกาล ประกอบกับมีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ โดยแม้จะเป็นช่วงนอกฤดูการท่องเที่ยวของทะเลฝั่งอันดามัน อย่างไรก็ดี ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่

– กทม.และปริมณฑล

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ชะลอลงมาอยู่ที่ระดับ 59.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมและภาคการลงทุน ทั้งนี้ ควรติดตามสภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศเป็นสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 68)

Tags: , ,
Back to Top