
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมเพิ่มเงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้ทำบัญชี โดยต้องไม่เป็นผู้ที่ให้การช่วยเหลือ สนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ในธุรกิจที่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ห้ามไว้ ซึ่งระหว่างนี้ อยู่ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย โดยพยายามเลี่ยงกฎหมายและใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) ในธุรกิจที่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กำหนดห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจ
โดยจากการสอบสวนขยายผลการกระทำความผิดนอมินีในหลายคดีที่ผ่านมา พบว่า มีสำนักงานบัญชี และผู้ทำบัญชี มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการกระทำความผิด โดยให้คำแนะนำ และดำเนินการช่วยเหลือการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลให้ชาวต่างชาติ โดยใช้ชื่อคนไทยเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น ในลักษณะนอมินี เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยได้ โดยหลีกเลี่ยงการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 กำหนดให้คนต่างด้าวที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในไทย โดยถือหุ้นตั้งแต่กึ่งหนึ่ง (50% ของทุนทั้งหมด) ในประเภทธุรกิจที่ปรากฏในบัญชีท้าย พ.ร.บ.ฯ อาทิ การก่อสร้าง การค้าปลีก (ที่มีทุนขั้นต่ำน้อยกว่า 100 ล้านบาท) การค้าส่ง (ที่มีทุนขั้นต่ำน้อยกว่า 100 ล้านบาท) การทำกิจการโรงแรม การนำเที่ยว การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือทำธุรกิจบริการอื่น ๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยคนต่างด้าวที่ฝ่าฝืนถือเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ ตั้งแต่ 1 แสนบาท – 1 ล้านบาท หรือทั้งจำและปรับ และคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน กระทำความผิดนอมินี จะมีความผิดตามมาตรา 36 ซึ่งต้องระวางโทษในอัตราเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อป้องปรามผู้ทำบัญชีไม่ให้กระทำการช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้มอบนโยบายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยกร่างประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ขึ้น เพื่อกำหนดห้ามบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เป็นผู้ทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี โดยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศฯ ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 23 เม.ย.-7 พ.ค.68 เชิญผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางดังกล่าว
นางอรมน กล่าวว่า ร่างประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้ผู้ทำบัญชีต้องไม่เป็นผู้ให้การช่วยเหลือ สนับสนุน ร่วมประกอบธุรกิจ หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว หากพบว่าผู้ทำบัญชีมีพฤติกรรมดังกล่าว นอกจากจะมีความผิดทางพินัย ซึ่งจะต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 แล้ว ก็จะขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ทำบัญชีตามร่างประกาศฉบับนี้
เว้นแต่ 1) พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้ชำระค่าปรับเป็นพินัย หรือศาลได้พิพากษาว่ามีความผิดดังกล่าว หรือ 2) ได้ให้ถ้อยคำ หรือ แจ้งเบาะแส หรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญ จนสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บุคคลดังกล่าว จึงจะสามารถกลับมาเป็นผู้ทำบัญชีได้อีกครั้ง
“การกำหนดห้ามบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเป็นผู้ทำบัญชี จะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และสร้างความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ รวมถึงเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นธรรม สำหรับผู้ประกอบการชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ระหว่างวันที่ 23 เม.ย. – 7 พ.ค. 68
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 68)