
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประเมินเศรษฐกิจล่าสุด ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศพบว่า ไทย สิงคโปร์ ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารุนแรงสุดในอาเซียน โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ ไทยจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงแค่ 1.8% และ สิงคโปร์ 2%
“จากการคาดการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ DEIIT มองว่ามีความเป็นไปได้สูง โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จะปรากฎชัดตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป กรณีของไทยอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค หรือภาวะเงินฝืดอ่อน ๆ ได้ หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายทางการเงิน และการคลังอย่างทันท่วงที” นายอนุสรณ์ ระบุ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทย และสิงคโปร์ ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารุนแรง เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมีระดับการเปิดประเทศสูง พึ่งพาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ มีระดับประเทศสูงสุดในอาเซียน จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าการค้าโลกสูง ส่วนประเทศไทย แม้จะมีตลาดภายในใหญ่กว่าหลายประเทศในอาเซียน แต่เนื่องจากมีโครงสร้างประชากรสูงวัย หนี้สินครัวเรือนสูง การปรับทิศทางมาพึ่งพาเศรษฐกิจและตลาดภายในมากขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย การกระตุ้นการบริโภคภายในมีขีดจำกัด
การจะทำให้ไทยพ้นภาวะเติบโตต่ำสุดในอาเซียนนั้น ต้องมีการปฏิรูปทุกมิติ ลงทุนยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มลงทุนนวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์ ระยะสั้นต้องผ่อนคลายทั้งการเงินการคลัง ผ่อนคลายกฎระเบียบ ชะลอการเลิกจ้างจากภาคส่งออก ลดความเหลื่อมล้ำ ปิดความเสี่ยง Social Unrest ปัญหาความขัดแย้ง การแยกขั้ว ความตึงเครียดทางสังคมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
“ภาวะดังกล่าว จะทำให้มวลชนไม่พึงพอใจต่อภาวะความเหลื่อมล้ำสูงเพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำ และผู้มีอำนาจต้องตอบสนองอย่างเหมาะสมและทันกาล เพื่อป้องกันให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” นายอนุสรณ์ กล่าว
ส่วนสัญญาณการเลิกจ้างในภาคส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ขอให้ติดตามข้อมูลการผลิตและการจ้างงาน เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ผู้ผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จะส่งออกได้น้อยลงในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเจอภาษีตอบโต้ ผู้ส่งออกจากหลายประเทศก็จะหันมาส่งออกแข่งกับไทยในตลาดเดียวกันมากขึ้น รวมถึงส่งออกมายังไทยมากขึ้นเมื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้น้อยลงจากกำแพงภาษี
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในอดีต เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวสูงถึง 11.7% ในช่วงปี 2530-2533 และในช่วงทศววรษ 2530 ไทยเคยเติบโตทางเศรษฐกิจในบางปีสูงถึง 13.3% ต่อปี สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม และมีความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิดล่าช้า และการฟื้นตัวเป็นรูป K-Shape อย่างชัดเจน
อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายปีติดต่อกัน และมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 3% และล่าสุดปีนี้อาจต่ำกว่า 2% สัดส่วนของการลงทุนเทียบกับจีดีพีอยู่ในระดับต่ำ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ หรือกิจการที่สัมปทานให้เอกชนดำเนินการก็มักจะมีการทุจริตรั่วไหล นโยบายและมาตรการต่าง ๆ มักมีผลประโยชน์ทับซ้อนทุจริต และมีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลประโยชน์ของเครือข่ายของกลุ่มผูกขาดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเสมอ
นอกจากนี้ ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีเสถียรภาพจากรัฐประหาร 2 ครั้ง และความไม่สงบและความรุนแรงทางการเมืองเป็นระยะ ๆ การเติบโตต่ำจึงกลายเป็น “ภาวะปกติ” ของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โอกาสที่ไทยกลับมาสู่การเป็นแถวหน้าของอาเซียนจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่แก้ปัญหาพื้นฐานเหล่านี้เสียก่อน
นายอนุสรณ์ มองว่า ในระยะสั้น ต้องผ่อนคลายการเงิน และกฎระเบียบเปิดกว้างให้มีการขับเคลื่อนการลงทุนด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ โดยขจัดอุปสรรคทางกฎระเบียบให้หมดไป แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันติดสินบนให้ลดลงอย่างจริงจัง แนวทางการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนกว่า และส่งผลในระยะปานกลาง และระยะยาว ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดนโยบายและมาตรการประชานิยมเกินขนาด และนำมาสู่ปัญหาฐานะทางการคลังในอนาคต ก็คือ การปรับโครงสร้างภาคการผลิต การบริหารจัดการทางด้านอุปทาน ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องทำให้เกิด Breakthrough Competitiveness and Growth with country innovation ต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทางด้านวิจัยและนวัตกรรมต่อจีดีพีให้สูงขึ้น โดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัย ยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์ ผลิตภาพของทุนและแรงงาน
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวถึงการกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทของกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลเศรษฐกิจ ว่า ต้องเน้นไปที่การลงทุน เพราะมาตรการประชานิยมพักหนี้ แจกเงิน อาจไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน เป็นเพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บรรเทาปัญหาวิกฤติหนี้สิน
“การใช้จ่ายเงินภาครัฐจากการกู้เงิน จึงต้องให้ตรงเป้าหมาย เกิดผลตามนโยบาย มีประสิทธิภาพ และต้องตระหนักว่า ขณะนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยที่ระดับ 64.21% นั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนแล้ว หากก่อหนี้สาธารณะอีก 5 แสนล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้น จึงไม่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้น จนต้องขยับเพดาน” นายอนุสรณ์ ระบุ
ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft Loans) อาจช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินของ SMEs ลดความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของ SMEs ได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้มีการปรับโครงสร้างภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อพลวัตอุปสงค์ตลาดโลก มาตรการ Soft Loans จึงต้องทำควบคู่กับการปรับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนทางธุรกิจ ปฏิรูประบบการให้สิทธิพิเศษการลงทุนต่างชาติ การลงทุนต้องทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการผลิตของไทย และต้องมีมาตรการกำกับควบคุมไม่ให้มีการสวมสิทธิเพื่อการส่งออก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 68)
Tags: ภาษีทรัมป์, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย