
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยในปี 2568 รัฐบาลได้ผลักดันเป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว พร้อมปรับรูปแบบเมืองรองการท่องเที่ยวเป็น “เมืองน่าเที่ยว” ทั่วไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัด คือนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและประเพณี เพื่อสร้างซอฟท์พาวเวอร์ให้ประเทศไทย
พร้อมชูโรง 3 เทศกาลช่วงออกพรรษา สร้างความคึกคัก และความต่อเนื่องด้วยประเพณีอันงดงาม ได้แก่ การยกระดับเทศกาล “ไหลเรือไฟ” สู่มหกรรมเรือไฟโลก นำเสนอคุณค่าวัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก และงานแห่ปราสาทผึ้ง สืบสานวัฒนธรรมที่โดดเด่นจากขี้ผึ้งธรรมชาติ รวมถึงเทศกาลแข่งเรือยาวโบราณ และประเพณีแข่งเรือยาวออกพรรษา เชื่อมสายสัมพันธ์สองฝั่งโขง ไทย – สปป.ลาว
นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสาธารณสุขในภาคอีสานตอนบน โดยได้อนุมัติจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ รองรับความต้องการของชุมชนในภาคอีสานตอนบน และแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ของชุมชน
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ยังได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชาชนในกลุ่มจังหวัดสนุก ให้เดินทางได้สะดวกครบทุกมิติ ทั้งทางอากาศ ทางถนน และทางราง ดังนี้
1. การคมนาคมทางอากาศ เพิ่มเส้นทางการบินมายังท่าอากาศยานนครพนม และสกลนคร เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานมุกดาหาร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568
2. การคมนาคมทางราง ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่- มุกดาหาร – นครพนม ระยะทาง 355 กม. ให้เปิดบริการได้ในปี 2571 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 3.8 ล้านคนต่อปี และรองรับปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 700,000 ตันต่อปี รวมถึงมีโครงการรถไฟสายใหม่ในอนาคต 3 โครงการ คือ ช่วงอุดรธานี – สกลนคร – นครพนม ระยะทาง 247 กม. ช่วงหนองคาย – บึงกาฬ – นครพนม ระยะทาง 316 กม. ช่วงมุกดาหาร – อำนาจเจริญ – อุบลราชธานี ระยะทาง 173 กม. เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงระบบขนส่งทางรางของประชาชน
นอกจากนั้น ยังมีดำเนินการก่อสร้างศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดนจังหวัดนครพนม ให้เปิดบริการได้ในปี 2568 เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบ นเส้นทาง R12 เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ พร้อมทั้งรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางถนนและทางราง ให้เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ให้บริการแบบ One Stop Service
3. การคมนาคมทางถนน ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายโครงการในจังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร รวมถึงมีโครงการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกกว่า 20 โครงการ เพื่อเสริมความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด และประเทศเพื่อนบ้าน
“รัฐบาล มีความตั้งใจในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว คมนาคม และสาธารณสุข เพื่อสร้างความสะดวกสบาย คุณภาพชีวิตที่ดี สร้างรายได้ กระจายโอกาส และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง” นายจิรายุ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 เม.ย. 68)
Tags: จิรายุ ห่วงทรัพย์, นครพนม, มุกดาหาร, สกล ตั้งก่อสกุล