
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 30 เม.ย.68 กนง. มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.75% เนื่องจากผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงปลายเดือนมี.ค.68 ประกอบกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากนโยบายปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลีใต้ที่เข้ามาน้อยกว่าคาด รวมถึงโมเมนตัมเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแรงลง
ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าว คาดว่าคงส่งผลให้ กนง. มีการปรับมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณการเดิมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ เดือนธ.ค. 67 ที่ 2.9% รวมถึงอาจปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.0% จากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนแรงลง และการปรับลดราคาพลังงานในประเทศเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ
ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง โดยนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนหลังสิ้นสุดการชะลอปรับขึ้นภาษี 90 วัน ท่ามกลางการเจรจาตกลงทางการค้ายังล่าช้า ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจเข้ามาน้อยกว่าคาด ดังนั้น ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ยังมีอยู่สูง
อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับลดดอกเบี้ย คงขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในระยะข้างหน้าเป็นหลัก เนื่องจาก กนง. ได้ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อเดือนก.พ.68 ว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ “ไม่ใช่” วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ประกอบกับ กนง. คงต้องการรักษาพื้นที่นโยบายการเงิน (Policy space) ไว้เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่คงต้องรอติดตามผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจช่วยประคองเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 68)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, ภาษีศุลกากร, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, อัตราดอกเบี้ย, เศรษฐกิจโลก, แผ่นดินไหว