BAM ดึง “พรรณี- แมนพงศ์” เสริมทัพกรรมการ มั่นใจสร้างกำไรต่อเนื่องแม้เผชิญภาวะศก.ผันผวน

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ [BAM] กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติแต่งตั้ง นางพรรณี วรวุฒิจงสถิต ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการกำกับกิจการเพื่อความยั่งยืน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2568

นอกจากนี้ มีมติแต่งตั้ง นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการกำกับความเสี่ยง กรรมการกำกับกิจการเพื่อความยั่งยืน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2568

สำหรับการแต่งตั้งกรรมการครั้งนี้ นับว่าเป็นการเสริมทัพ BAM ให้มีความแข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิและมีประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานในระดับผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ ถือเป็นการยกระดับการกำกับดูแลกิจการและต่อยอดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร พร้อมทั้งเสริมศักยภาพให้ BAM มีความพร้อมในการดำเนินงานและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง

นายรักษ์ กล่าวอีกว่า BAM พร้อมเดินหน้าธุรกิจด้วยกลยุทธ์เชิงรุกในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แม้ต้องเผชิญหน้าความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนด้วยปัจจัยต่าง ๆ อาทิ สงครามการค้าโลกยุคใหม่ (Trade War 2.0) และแนวนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุคใหม่ (Trump 2.0) โดย BAM ยังคงยืนยันนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งถือได้ว่า BAM เป็นหลักทรัพย์ที่โดดเด่นอยู่ในกลุ่มหุ้นปันผลสูง SETHD (SET High Dividend 30) พร้อมทั้งตอกย้ำบทบาทการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ให้โอกาสลูกหนี้ NPLs ในการได้หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินกลับคืนไปด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน และมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายใหญ่ รายกลาง ให้สามารถฟื้นฟูกิจการหรือสถานะทางการเงินของตน โดยปรับโครงสร้างหนี้และหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน

ขณะที่ การบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายหรือ NPAs นั้น BAM ได้มีการแบ่งกลุ่มทรัพย์ ประเภทบ้าน ที่ดิน คอนโด และทรัพย์เพื่อการลงทุนนำเสนอลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมาย (Target Segment) ด้วยช่องทางและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่หลากหลาย พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developers) ในการปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินรอการขาย หรือสถาบันการเงินที่จะมาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้และลูกค้าซื้อทรัพย์ของ BAM

นายรักษ์ กล่าวโดยสรุปว่าการดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกถือได้ว่าครอบคลุมมิติสำคัญทางธุรกิจของ BAM อีกทั้งการเสริมทัพคณะกรรมการด้วยการดึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มีวิสัยทัศน์ และประสบการณ์ในการกำกับดูแลกิจการสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ BAM สามารถก้าวไปข้างหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมผู้บริหารและพนักงาน BAM ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้ง NPLs และ NPAs อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงช่วยให้ BAM ยืนหยัดได้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง แต่ยังแปรเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสในการลงทุนได้ ด้วยการนำทรัพย์สินเหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ผู้ลงทุน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ BAM ในฐานะผู้นำธุรกิจ AMC ที่จะช่วยพลิกฟื้นสินทรัพย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 68)

Tags: , , ,
Back to Top