
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม [PTTEP] หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาส 1/68 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 74,196 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 484,218 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/67 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 45.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
จึงส่งผลให้ไตรมาสที่ 1/68 บริษัทมีกำไรสุทธิ 16,561 ล้านบาท (เทียบเท่า 488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ลดลง 7% จากไตรมาส 1/67 ที่มีกำไรสุทธิ 18,683 ล้านบาท (เทียบเท่า 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และลดลง 51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ลดลง 9.46% จากไตรมาส 4/67 สาเหตุหลักจากราคาขายที่ลดลง 3% จากราคาน้ำมันดิบลดลงตามราคาตลาด ค่าเสื่อมราคาค่าสูญสิ้น และค่าตัดจำหน่าย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น
กำไรจากการดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 1/68 ลดลง 53 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/67 สาเหตุหลักจากรายได้จากการขายลดลงจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง ในขณะที่ปริมาณขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จากโครงการจี 1/61 และโครงการมาเลเซียแปลงเค รวมทั้งค่าเสื่อมราคา ค่าสูญสิ้น และค่าตัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น มาจากโครงการจี 1/61 ตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโครงการจี 2/61
มีค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 1/68 ลดลง 17 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/67 ดยหลักเป็นผลของกำไรจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ตามราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าที่ปรับตัวลดลงในไตรมาส 1 ปีนี้ ในขณะที่ไตรมาส 1 ปีก่อน ราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าอยู่ในช่วงปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงฯ
นายมนตรี กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 1 และในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจหลายด้าน โดยล่าสุด ปตท.สผ. ได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มของแหล่งอาทิตย์ กับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ซื้อ เพื่อเพิ่มปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติต่อวันตามสัญญา (Daily Contract Quantity หรือ DCQ) ขึ้นเป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่ปริมาณ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2568 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประชาชน และส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 68 ปตท.สผ. ยังได้เข้าซื้อสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเติมในบริษัท APICO LLC ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการสินภูฮ่อม แหล่งปิโตรเลียมบนบกที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่งผลให้ ปตท.สผ. ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในโครงการสินภูฮ่อมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 จากเดิมร้อยละ 80.487 และได้รับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในปี 2567 โครงการสินภูฮ่อมมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย 105 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสท 222 บาร์เรลต่อวัน
สำหรับการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่โครงการอาทิตย์ ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Nationally Determined Contribution Action Plan Mitigation 2021-2030) แล้วในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการทำข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) โดยคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700,000 – 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง ต่อยอดองค์ความรู้ รวมทั้ง การพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไปในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 68)