DSI แจงคืบหน้าคดีหมูเถื่อนส่งเรื่องป.ป.ช. ฟันแล้ว 11 คดี จาก 12 คดี ที่เหลือรอสืบค้นพยานจากตปท.

พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า สำหรับกรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ยื่นร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐ นายทุน บริษัทชิปปิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และกรมศุลกากร ได้ร้องทุกข์ต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ต่อมาได้ส่งเรื่องมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดซึ่งได้เปิดสำรวจและพบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ มีมูลค่าของรวมภาษีอากร รวมเป็นจำนวนเงิน 460,105,947.38 บาท ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวน จำนวน 9 เลขคดีพิเศษ เพื่อทำการสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 3 กลุ่ม ดังนี้

– กลุ่มที่ 1 (สินค้าอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ ณ ด่านศุลกากรแหลมฉบัง)

1. คดีพิเศษที่ 59/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 28 มิ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติก์ จำกัด กับพวกรวม 3 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 24 พ.ย. 66

2. คดีพิเศษที่ 101/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อิควิปเม้น จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ม.ค. 67

3. คดีพิเศษที่ 102/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช กับพวกรวม 5 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 6 ส.ค. 67

4. คดีพิเศษที่ 103/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ก.ย. 67

5. คดีพิเศษที่ 104/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท อาร์ ที เอ็น โอเวอร์ซี จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 17 ม.ค. 67

6. คดีพิเศษที่ 105/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 23 เม.ย. 67

7. คดีพิเศษที่ 106/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท สหัสวรรษ จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 29 พ.ค. 67

8. คดีพิเศษที่ 107/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท ซีเวิร์ล โฟรเซ่น ฟูด จำกัด กับพวกรวม 2 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 11 เม.ย. 67

9. คดีพิเศษที่ 108/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท ศิขัณทิน จำกัด กับพวกรวม 4 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 26 ก.ค. 67

10. คดีพิเศษที่ 109/2566 รับเป็นคดีพิเศษวันที่ 13 พ.ย. 66 ผู้ต้องหาคือ บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กับพวกรวม 4 ราย วันที่ส่ง ป.ป.ช. วันที่ 26 ก.ค. 67

– กลุ่มที่ 2 สินค้านำออกสู่ท้องตลาดแล้ว จากการตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม พบมีกลุ่มนิติบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้เป็นคดีพิเศษ จำนวน 10 เรื่อง และมีการนำสินค้าดังกล่าวออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดแล้ว ผลการตรวจสอบข้อมูลในระบบของกรมศุลกากร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 66 พบว่า มีใบขนสินค้ารวมทั้งหมด 2,385 ใบขน มีมูลค่าสินค้านำเข้า จำนวน 1,566,760,187.79 บาท จึงรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 126/2566 ระหว่างการประสานความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ อิตาลี เยอรมนี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ บราซิล ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่มีการส่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร

– กลุ่มที่ 3 กลุ่มขบวนการสวมสิทธิถิ่นกำเนิด จากการตรวจสอบขยายผล ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีขบวนการร่วมกันปลอมแปลงเอกสาร โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกสินค้าซากสัตว์ประเภทต่าง ๆ เพื่อสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าผลิตและส่งออกจากราชอาณาจักรไปยังต่างประเทศ ได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 127/2566 ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว มีผู้ต้องหาจำนวน 14 ราย ประกอบด้วย นายทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ส่งสำนวนไป ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 67

ทั้งนี้ จากการรับคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าและส่งออกซึ่งซากสัตว์ รับไว้ทำการสอบสวนทั้งหมด จำนวน 12 คดี ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 11 คดี ส่งสำนวนให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว ยังคงเหลืออีก 1 เรื่อง ที่อยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือทางอาญากับอีก 7 ประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับป.ป.ช. ว่า สำนวนที่ค้างอยู่ 1 เรื่อง จะให้ส่งเรื่องไปป.ป.ช. ทันทีเลยหรือไม่ หรือจะให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบค้นพยานหลักฐานให้ครบก่อน ซึ่งตอนนี้ยังขาดข้อมูลจากต่างประเทศที่จะพิสูจน์ว่า การลักลอบนำเข้าหมูมีการสำแดงเท็จเป็นอะไร ซึ่งพบข้อมูลเบื้องต้นว่า สำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล (ปลาแซลมอน) เนื่องจากภาษีถูกกว่าหมู อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหลังจากนี้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อรอข้อมูลจากต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 68)

Tags: , , ,
Back to Top