
ท่าทีของความแข็งกร้าวต่อการรักษาผลประโยชน์ของ “ทรัมป์” ผู้นำสหรัฐฯ ในการตอบโต้โดยใช้ “สงครามภาษี” หรือที่รู้จักกันในนามของ Reciprocal Tariffs เมื่อวันแรก (3 เม.ย.) ที่เริ่มประกาศ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
หากเทียบตลาดหุ้นไทย SET Index ร่วงลงจากวันที่ 3 เม.ย.68 (หลังประกาศ) ดัชนีอยู่ที่ 1,172 จุด จนทำจุดต่ำสุดของรอบนี้ อยู่ที่ 1,056 จุด เมื่อวันที่ 8 เม.ย.68
วันที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี SET Index ร่วงลงมาอยู่ใกล้เคียง 1,000 จุด (อีกครั้ง) ส่งผลให้หุ้นไทยปรับตัวลดลงทั้งกระดาน

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ท่าทีของสัญญาณสงครามภาษี เริ่มมีการผ่อนปรน ทั้งจากการประกาศเลื่อนเก็บภาษี 90 วัน จากเดิมที่มีผลบังคับใช้เลย
ประกอบกับการไม่เห็นด้วยกับนโยบายของเอกชนภายในประเทศสหรัฐฯ เอง รวมถึงการประท้วงของประชาชนในประเทศที่ใช้ชื่อว่า “50501” คือ การประท้วง 50 แห่ง 50 มลรัฐ และ 1 การเคลื่อนไหว ทำให้แนวโน้มความแข็งกร้าวของ “สงครามภาษี” อาจจะถูกกดดันจากความไม่เห็นด้วยจากคนในประเทศ
รวมถึงการผ่อนคลาย ด้วยการส่งสัญญาณยกเว้นภาษี สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ไปก่อน
แนวทางที่เกิดขึ้นของสหรัฐถือเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาปิดที่ 1,150 จุด หรือเพิ่มขึ้น +94 จุด หรือคิดเป็น +8.9% (18 เม.ย.) เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุดที่ 1,056 จุด (8 เม.ย.)

ทั้งนี้ แม้ดัชนีจะปรับตัวรีบาวน์ขึ้นมาเกือบ 10% ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 6 วันทำการ แต่ก็ยังมีหุ้นในกลุ่ม SET100 ที่มีค่า P/Eต่ำว่า 20 เท่า ,ค่า P/BV ไม่เกิน 2 เท่า ที่ราคาหุ้นยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีในการนำหุ้นเหล่านี้ไปทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
หากประเมินว่าการคลายกังวลในโลกของตลาดทุน จะทำให้ราคาหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาไทยกลับมา ประกอบกับ สถานการณ์ที่กดดันผู้นำสหรัฐฯ ให้ผ่อนปรน หรือ มีทางออกที่ดีต่อ “สงครามภาษี” ในครั้งนี้
อีกทั้ง หาก รมว.คลัง สามารถนำทีมเศรษฐกิจของไทยไปเจรจามาตรการภาษี Reciprocal Tariffs ที่สหรัฐฯ น่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยอีกด้วย
ธิติ ภัทรยลรดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 68)
Tags: Reciprocal Tariffs, SET, ตลาดหุ้นไทย, มองมุมต่าง, หุ้นไทย