
แรงกดดันเศรษฐกิจไทยที่ถาโถมเข้ามาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าจากนโยบายภาษีของสหรัฐ ที่สร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจโลก และการส่งออกไทย อีกทั้งผลพวงจากเหตุแผ่นดินไหวที่เมียนมา ที่สั่นสะเทือนวงการอสังหาฯ ไทย ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องพิจารณาอย่างเข้มข้นในการประชุมดอกเบี้ยนโยบายรอบ 30 เม.ย.68 ว่ายังมีความจำเป็นต้อง “เก็บกระสุน” ไว้ใช้หรือไม่ ท่ามกลางความเห็นจากแวดวงการเงินที่ส่วนใหญ่มองว่ามีโอกาสมากที่รอบนี้ กนง.จะตัดสินใจหั่นดอกเบี้ยลงอีก 0.25%
สถาบัน | มติ กนง. (30 เม.ย.) | อัตราดอกเบี้ย | ณ สิ้นปี 68 |
---|---|---|---|
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) | คงดอกเบี้ย | 2.00% | 1.75% |
ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) | ลดดอกเบี้ย | 1.75% | 1.25-1.00% |
ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) | ลดดอกเบี้ย | 1.75% | 1.50% |
บล.เอเซีย พลัส | ลดดอกเบี้ย | 1.75% | n/a |
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพาณิชย์ (SCB EIC) | n/a | n/a | 1.25% |
บล.บัวหลวง | ลดดอกเบี้ย | 1.75% | 1.50% |
- กรุงศรีฯ คาดคงดอกเบี้ย หลังเพิ่งลดไปรอบก.พ.
น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดว่าในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.นี้ กนง. อาจคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.00% หลังจากเพิ่งลดดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนก.พ.68 โดยประเมินจากท่าทีของผู้ดำเนินนโยบาย ที่ระมัดระวังเรื่องการรักษาขีดความสามารถในการทำนโยบาย ท่ามกลางทิศทางการค้าโลกที่มีแนวโน้มไม่แน่นอนสูง และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
ขณะที่สินค้าไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงเกินคาดที่ 36% นับเป็นอัตราสูงสุดอันดับ 5 ในภูมิภาคอาเซียน กระทบภาคส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ
น.ส.รุ่ง ระบุว่า แม้ตลาดคาดว่ามีโอกาสสูงที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยปลายเดือนนี้ แต่เรามองว่าทางการอาจเลือกเก็บกระสุนดอกเบี้ยนโยบาย และรอประเมินความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ขณะที่สถานการณ์อาจพลิกผันได้ตลอดเวลา และตลาดการเงินผันผวนสูง ตามกระแสข่าวที่เกี่ยวข้อง อาทิ การระงับภาษีตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่ทวีความรุนแรง และความคาดหวังต่อแนวทางการเจรจาของสหรัฐฯกับคู่ค้าต่างๆ
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ ภาพรวมผลของภาษีศุลกากร 10% ยังจำกัด และช่วงนี้ไทยน่าจะเร่งส่งออก ส่วนเหตุแผ่นดินไหวนั้น มีมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะจุดจากภาครัฐและสถาบันการเงิน ขณะที่กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 2-3 โดยครึ่งหลังของปีนี้ ผลกระทบจากภาษีน่าจะชัดเจนขึ้น หนุนโอกาสลดดอกเบี้ยในระยะถัดไป
น.ส.รุ่ง ยอมรับว่า ระดับดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน สูงเกินศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนความท้าทายเชิงโครงสร้าง ซึ่งจำกัดประสิทธิผลของเครื่องมือดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนแรงกดดันด้านราคาที่อยู่ในระดับต่ำ แม้ไม่ได้บ่งชี้ภาวะเงินฝืด แต่เอื้อให้ลดดอกเบี้ยได้
ทางด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยหลายช่วงอายุ ดิ่งลงต่ำกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนสารพัดปัญหาฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้หากมองในมุมตลาดพันธบัตร ไม่ได้บ่งชี้ภาวะขาดสภาพคล่องก็ตาม
สำหรับประมาณการลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ โดยความเสี่ยงเบ้ไปทางด้านต่ำ ตามพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจการค้าโลก
“เบื้องต้น มองว่าสิ้นปีดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 1.75% แต่กีมีความเสี่ยงว่าอาจจะลงได้มากกว่านั้น” น.ส.รุ่ง ระบุ
- CIMBT ฟันธงดอกเบี้ยลงแน่ 0.25%
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มองว่า บนความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐ หากไทยถูกเรียกจัดเก็บภาษีสูงขึ้นจากระดับที่สหรัฐฯ เคยประกาศไว้ที่ 36% (ระหว่างนี้ยังอยู่ช่วงเวลาผ่อนผัน 90 วัน) เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในไตรมาส 3/68 และไตรมาส 4/68 โดยอาจเติบโตได้เพียง 1.4% และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะความผันผวนทั่วโลก และมีผลให้เศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงหนักกว่าคาด
ดังนั้น จากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศษฐกิจไทยที่การเติบโตชะลอตัวลง และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ อาจเป็นการเปิดทางให้ กนง. สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ คาดว่าจะไม่เห็นการลดดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรง เพราะมีข้อจำกัดหลายประการ ที่ไม่เอื้อต่อการผ่อนคลายแบบครอบคลุม
โดยคาดการณ์ว่า กนง.อาจจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงก่อน 1 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.75% ในการประชุมปลายเดือนเม.ย.นี้ จากปัจจุบันที่ 2.00% และรอติดตามและประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้ จะอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยอ่อนแอกว่าที่คาด กนง. ก็อาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาถึงระดับ 1.00% ได้
ทั้งนี้ หากแรงกดดันจากภาษีทรัมป์ยังมีอยู่ และเงินเฟ้อเร่งตัว ธปท. อาจใช้มาตรการเฉพาะจุด เช่น ช่วยเหลือหนี้ SMEs และการอัดฉีดสภาพคล่องแทนการเน้นลดดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี ธนาคารฯ ได้ปรับประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือ 1.8% จากเดิม 2.7% แม้สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยแค่ 10% แต่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ กำลังซื้ออ่อนแอ มีปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ เหตุแผ่นดินไหว และนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาน้อย ซึ่งหลายปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้ GDP ลดลง
- KBANK ชี้มีโอกาสมากขึ้นที่จะลดดอกเบี้ย
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองว่า มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่ กนง. วันที่ 30 เม.ย. จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% โดยมองว่า มติที่ประชุมอาจไม่เป็นเอกฉันท์
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยให้มุมมองว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หลังจากเกิดความไม่แน่นอนเรื่องภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งเรื่องปัจจัยเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขัน เรื่องการคลัง และหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงเรื่องแผ่นดินไหว และมาตรการภาษีซึ่งมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจไทยมากนั้น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับมุมมองว่า กนง. จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น ในรอบการประชุมเดือนเม.ย.นี้ 1 ครั้ง และในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับลดอีก 1 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 68 จะอยู่ที่ 1.5%
โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 2.00% นั้น น.ส.ณัฐพร มองว่า กนง. ควรจะปรับให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ส่วนปีนี้ จะมีโอกาสปรับลดมากกว่า 2 ครั้งหรือไม่นั้น ต้องมองเป็นช็อต ๆ ไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว กนง. ก็ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space)
“เรื่องไม่ได้จบแค่ปีนี้ เขาต้องบาลานซ์ว่าเครื่องมือที่มีอยู่ในมือ จะมีเพียงพอที่จะรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าด้วย” น.ส.ณัฐพร ระบุ
ส่วนประเด็นที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศระงับการขึ้นภาษีตอบโต้กับอีกหลายประเทศเป็นเวลา 90 วัน มีผลต่อการตัดสินใจของ กนง.ในการปรับดอกเบี้ยหรือไม่นั้น น.ส.ณัฐพร กล่าวว่า เรื่องมาตรการภาษี กนง. น่าจะมองทั้งในระยะสั้น และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากขณะนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าท้ายที่สุดแล้วอัตราภาษีที่ไทยจะถูกเรียกเก็บนั้นจะอยู่ที่เท่าไร และประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศจีนเองจะโดนเก็บภาษีที่เท่าไร ซึ่งสุดท้ายแล้วผลกระทบด้านการค้าก็จะส่งผลมาถึงไทยอยู่ดี
ดังนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองในระยะข้างหน้า ซึ่งการระงับเก็บภาษี 90 วัน ทำให้ผู้ส่งออกได้มีเวลาเร่งระบายสินค้าออกไป ขณะที่สหรัฐฯ ก็มีเวลาจัดการความโกลาหลภายในประเทศ แต่ท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ยังไม่จบ และเป็นความเสี่ยง ความไม่แน่นอนต่อไป
- เอเชียพลัส มองโอกาสสูง รอบนี้ลดดอกเบี้ย
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (จำกัด) ให้มุมมองว่า นักลงทุนยังกังวล TRADE WAR ที่มีโอกาสปะทุได้ทุกเมื่อ ซึ่งหลังจากที่สหรัฐฯ ได้เลื่อนเก็บภาษีนำเข้า 36% ออกไป 90 วัน (คาดมีผลบังคับใช้ 9 ก.ค.68) เหลือการจัดเก็บเพียง 10% เท่ากับหลายประเทศ ซึ่งล่าสุดทีม รมต. คลัง เตรียมไปเจรจากับสหรัฐฯ วันที่ 23 เม.ย.68 ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีข้อตกลงที่เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ประเมินกรณี หากไทยไม่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯเลย จะกระทบกับ GDP ไทยอย่างมีนัยสำคัญราว -4% ขณะที่ในช่วงสั้นต้องติดตามตัวเลข GDP ไตรมาส 1/68 วันที่ 28 เม.ย.68 ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร
ขณะที่ฝั่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ทำให้มีผลกระทบส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และคาดจะกดดัน GDP GROWTH ปี 68 ให้หลุดเป้าหมายเดิมที่ 2.5%
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ปัจจัยที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้คงหนีไม่พ้นนโยบายการเงิน ซึ่งมีโอกาสสูงที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง เหลือ 1.75% ในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.68
- SCB EIC คาดเห็นลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปีนี้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 68 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5% (คาดการณ์เดิม 2.4%) จากทั้งสงครามการค้าที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีชุดใหญ่ รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศ
ทั้งนี้ ภายใต้การค้าโลกที่ชะลอลง และความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ทั้งผลทางตรงจากการที่ไทยส่งออกตลาดสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 และผลทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัว (เช่น จีน) การแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้น และการลงทุนชะลอจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
โดยประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 3 ครั้งในปีนี้ ไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 68 (เดิม 1.50%) เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปี 61-62 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รอบแรกที่ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
นโยบายการเงิน จำเป็นต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยมากขึ้น มาตรการภาษีทรัมป์ที่มากกว่าคาดไปมาก จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพอย่างมีนัย ดังนั้น นโยบายการเงิน จะมีบทบาทช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายภาวะการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และครัวเรือนได้
- บล.บัวหลวง เชื่อลดดอกเบี้ยรอบนี้ และอีกรอบใน H2/68
บล.บัวหลวง ปรับมุมมองการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จากเดิมที่คาดว่าจะลดอีก 1 ครั้ง (เหลือ 1.75% ณ สิ้นปี 68) เป็นคาดว่าจะปรับลดอีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) เหลือ 1.5% ณ สิ้นปี 68 โดยลดครั้งที่ 1 ในรอบประชุมวันที่ 30 เม.ย.และครั้งที่ 2 ภายในครึ่งปีหลัง จากเหตุผลรองรับ 3 ข้อหลัก คือ
1. เศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนราว 60% ของ GDP ไทย และยังส่งผลให้เกิดภาวะชะลอการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบของนโยบายการค้าโลก เศรษฐกิจไทยยังคงมีแรงกดดันจากโครงสร้างภายในประเทศ อาทิ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคการบริโภคภายในประเทศยังคงอ่อนแอ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SMEs ไทยยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคากับสินค้าราคาถูกที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ ธปท.ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยตลอดปี 68 จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1% โดยยังมีแรงกดดันทั้งจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากจีน) ที่น่าจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังคงอ่อนแอ จากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จึงไม่ได้ส่งผลต่อความกังวลด้านเงินเฟ้อ และยังสามารถบรรเทาภาระหนี้ของครัวเรือนบางส่วน
3. เงินบาทยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้สินค้าส่งออกไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลง เมื่อเทียบกับคู่แข่ง
“จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้ง เหลือ 1.50% ณ สิ้นปี 2568 จึงสอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นการรองรับกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 68)
Tags: Consensus, SCOOP, กนง., ดอกเบี้ยนโยบาย, ลดดอกเบี้ย, อัตราดอกเบี้ย