TRIS ชี้เหตุแผ่นดินไหวสะเทือนไทยหนุนธุรกิจประกันภัยปี 68-ขายออนไลน์โตต่อเนื่อง

ทริสเรทติ้ง (TRIS) ประเมินกลุ่มธุรกิจประกันภัยในปี 2568 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าประกันวินาศภัยจะได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยประกันอัคคีภัย, ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด (IAR) และประกันภัยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองมหันตภัย น่าจะได้รับความสนใจ ขณะที่ประกันภัยรถยนต์ มีแนวโน้มทรงตัว

อย่างไรก็ดี ผลประกอบการปี 2568 ของกลุ่มประกันวินาศภัย อาจถูกกดดันด้วยค่าสินไหมทดแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหว ส่วนประกันภัยรถยนต์ ค่าสินไหมทดแทนจะปรับตัวขึ้นจากต้นทุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

  • ภาพรวมธุรกิจและการแข่งขัน (Overview and Competition)

 

– การแข่งขันสูง เนื่องจากมีบริษัทประกันภัยจำนวนมาก

บริษัทประกันชีวิตปัจจุบัน ประกอบด้วย 21 บริษัท ขณะที่กลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัย ประกอบด้วย 48 บริษัท ในจำนวนนี้รวมสาขาของบริษัทประกันภัยต่างประเทศ 4 บริษัท บริษัทประกันภัยทั้งอุตสาหกรรม ได้รับเบี้ยประกันทั้งสิ้น 9.41 แสนล้านบาทในปี 2567 เติบโต 2.4% จากปีก่อน แบ่งเป็น เบี้ยประกันชีวิต 6.54 แสนล้านบาท ขยายตัว 3.2% และเบี้ยประกันวินาศภัย 2.87 แสนล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยบริษัทประกันชีวิต ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 5 อันดับแรก มีส่วนแบ่งตลาด 71% เบี้ยประกันภัยรับส่วนใหญ่ เป็นเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ (Endowment) โดยมีสัดส่วน 43% ของเบี้ยประกันภัยรับรวมในปี 2567 ส่วนบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้รับเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง (Direct premium) รวม 5 อันดับแรก มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% เบี้ยประกันภัยส่วนใหญ่ เป็นประกันภัยรถโดยสมัครใจ มีสัดส่วน 49% ของเบี้ยประกันวินาศภัย

 

  • แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกัน

– สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP ยังต่ำ

ตามรายงานของ คปภ. ณ สิ้นปี 2567 สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อ GDP ของประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 5.0% ของ GDP (กลุ่มประกันชีวิต 3.5% และกลุ่มประกันวินาศภัย 1.5%) ปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงประกันภัย ได้แก่ Insurtech ความร่วมมือระหว่างบริษัทประกันกับสถาบันการเงินผ่านสาขาและโมบายแบงก์กิ้ง ร้านค้าปลีก แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และอีวอลเล็ต ที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงประกันภัยได้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค การชำระเบี้ยประกันแบบยืดหยุ่น

นอกจากนี้ การส่งเสริมการวางแผนการเงิน ทำให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับประกันภัยมากขึ้น สังคมผู้สูงอายุ และค่าบริการทางการแพทย์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการความคุ้มครองด้านสุขภาพมากขึ้น

– ปัจจัยหลากหลายสนับสนุนการเติบโตของประกันวินาศภัย

ทริสเรทติ้ง คาดประกันวินาศภัยในปี 2568 เติบโต 2-3% จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและ Nominal GDP ที่คาดว่าจะโต 3.3-3.8% ตามประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยข้อมูลสถิติในช่วงปี 2545-2566 พบว่า เบี้ยประกันวินาศภัยมีอัตราการขยายตัว 0.6-0.8 เท่าของการเติบโตของ Nominal GDP ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โครงการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ โดย บสย. ซึ่งจะช่วยให้ประกันภัยรถยนต์ที่มุ่งเน้นความต้องการเฉพาะกลุ่ม ได้รับประโยชน์ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะทำให้ประกันอัคคีภัย และประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดหรือ Industry All Risk (IAR) ที่มีสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองมหันตภัยได้รับความนิยม และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และการลด LTV ชั่วคราว จะช่วยเพิ่มความต้องการประกันอัคคีภัย และประกันเครดิตไลฟ์

นอกจากนี้ ตลาดสัตว์เลี้ยงที่มีมูลค่าสูงขึ้น จะทำให้มีความต้องการทำประกันสัตว์เลี้ยง (Pet insurance) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

– ประกันสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพผลักดันความต้องการประกันชีวิต

สำหรับประกันชีวิต ทริสเรทติ้งคาดการณ์เติบโตที่ระดับ 2%-3% เช่นกัน โดยพิจารณาจากสถิติที่เบี้ยประกันชีวิตเติบโตเฉลี่ย 0.9 เท่าของ Nominal GDP ทริสเรทติ้งคาดว่า ประกันสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพและประกันบำนาญ จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประกันชีวิตเติบโตในปี 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ ความตระหนักรู้เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ การวางแผนการเงิน และค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น และการรวมเอาผลประโยชน์หลายด้านเข้าไว้ด้วยกัน เช่น ประกันชีวิตที่รวมสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพแบบเหมาจ่าย ควบการลงทุนแบบยูนิตลิ้งค์ ทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความสนใจมากขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ และสูญเสียชีวิตจากมหันตภัยจากภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว

 

  • ช่องทางการขายประกัน (Distribution Channels)

 

การขายประกันวินาศภัยส่วนใหญ่ผ่านตัวกลาง เช่น ช่องทางนายหน้าประกันภัย (Brokers) และธนาคาร (Bancassurance) ซึ่งมีสัดส่วนรวม 79% โดยส่วนใหญ่เป็นการขายผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ารายย่อยที่ไม่ซับซ้อน ในขณะที่ช่องทางการจำหน่ายโดยตรง ได้แก่ ช่องทางอินเทอร์เน็ต การติดต่อผ่านสาขาบริษัท (Walk-In) สถานที่ทำงานของลูกค้า (Worksite) และการขายผ่านโทรศัพท์ (Telemarketing)

อย่างไรก็ตาม ช่องทางอินเทอร์เน็ต มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความสะดวกในการเลือก และเปรียบเทียบรายละเอียดเงื่อนไขและความคุ้มครองให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่สามารถทำได้ผ่านหน้าเว็บของบริษัท ช่วยลดค่าคอมมิชชั่นที่ให้กับนายหน้าประกันภัย

สำหรับประกันชีวิต โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการขายผ่านตัวแทนบริษัทประกัน (Agent) ซึ่งในปี 2567 มีสัดส่วน 53% รองลงมาเป็น การขายผ่านธนาคาร (Bancassurance) 38% ซึ่งน่าจะยังคงสัดส่วนนี้ต่อไป เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของประกันชีวิตมีรายละเอียดที่ต้องได้รับข้อมูลจากตัวแทนประกันหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารแบบตัวต่อตัว แต่ก็ตามมาด้วยค่าคอมมิชชั่นในการขายที่สูงเช่นกันโดยเฉพาะในปีแรก ๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรฐานทางบัญชี TFRS 17 บริษัทประกันชีวิตสามารถกระจายค่าใช้จ่ายในการขายได้ยาวขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้จากสัญญาประกันภัยระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่ามีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยจากช่องทางตรงที่สูงกว่า เช่น ประเทศในยุโรป มีสัดส่วนของเบี้ยประกันภัยที่ผ่านช่องทางตรงอยู่ที่ระดับกว่า 50% ทั้งประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ในขณะที่ช่องทางนายหน้าและตัวแทน มีสัดส่วนอยู่เพียง 20%-30% เท่านั้น

 

  • ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทประกันชีวิต (Life Insurance Group Performance)

 

กำไรในระดับอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 กลุ่มบริษัทประกันชีวิตโดยรวมกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 23.3% จากปีก่อน แม้ว่าเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิเติบโตเพียงเล็กน้อย ผลจากการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ลงทุนลดลงอย่างมาก และกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนรับรู้เข้ากำไรขาดทุนสูงขึ้น ทำให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวดีขึ้นมาเป็น 6.0% อัตราการจ่ายผลประโยชน์และค่าสินไหมทดแทนยังคงที่อยู่ที่78% ของเบี้ยประกันภัยรับที่ถือเป็นรายได้สุทธิค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 8.9% และผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 3.3%

ในปี 2568 คาดว่าบริษัทประกันชีวิต ยังคงสามารถทำกำไรท่ามกลางการเติบโตต่ำและการแข่งขันรุนแรง โดยอาศัยการขายประกันเฉพาะด้าน การออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างรอบคอบ การบริหารความเสี่ยง การควบคุมต้นทุน การใช้ฐานข้อมูลและช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ การพัฒนาแอปพลิเคชันสุขภาพ และการขายประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือควบการลงทุนยังช่วยสร้างรายได้ระยะยาว แม้ความเสี่ยงจากการลงทุนอาจเพิ่มสูงขึ้นจากตลาดเงิน และตลาดทุนมีความผันผวน แต่น่าจะยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ เนื่องจากนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำของบริษัทประกันชีวิต

– รายได้จากเงินลงทุนของธุรกิจประกันชีวิตเติบโต

รายได้สุทธิจากการลงทุน หลังหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนในปี 2567 ขยายตัว 2.8% จากรายได้จากการลงทุนรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.94 พันล้านบาท หรือ 3.0% เทียบกับปี 2566 การลงทุนส่วนใหญ่ของบริษัทประกันชีวิต โดยปกติอยู่ในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง และหุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและระยะยาว เพื่อพยายามให้สอดคล้องกับระยะเวลาเฉลี่ยของกรมธรรม์ โดยมีสัดส่วนถึง 62.5% ของพอร์ตสินทรัพย์ลงทุน ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชนมีสัดส่วน 20.6% ของพอร์ต ทำให้รายได้จากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลมีสัดส่วนถึง 55% ของรายได้จากการลงทุนทั้งหมด รองลงมา จะเป็นดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่มีสัดส่วน 21% ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม โดยมีกรมธรรม์เป็นประกัน 7% และเงินปันผลหุ้นทุน 6% ในปี 2567 รายได้ดอกเบี้ยพันธบัตรและตั๋วเงินคลังขยายตัว 4% จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเทียบกับปี 2566

– บริษัทประกันชีวิต มีผลประกอบการใกล้เคียงอุตสาหกรรม

ผลประกอบการรวมในปี2567 ของบริษัทประกันชีวิตที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (Bangkok Life Assurance, BLA) และบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (Thai Life Insurance, TLI) ปรับตัวดีขึ้นด้วยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 24.9% เนื่องจากกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี2566 และการขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนที่ลดลง เบี้ยประกันภัยสุทธิลดลงเล็กน้อย แต่รายได้จากเงินการลงทุนสุทธิทรงตัวที่ 29.6 พันล้านบาท ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 9.9% สูงกว่าระดับอุตสาหกรรม ส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 3.4 %

 

  • ผลประกอบการของกลุ่มประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance Group Performance)

 

กำไรระดับอุตสาหกรรมลดลงจากปี 2566 และเสี่ยงลดลงต่อเนื่องในปี 2568

ผลประกอบการของกลุ่มประกันวินาศภัยโดยรวมในปี 2567 สวนทางกับกลุ่มธุรกิจประกันชีวิต โดยกำไรสุทธิปรับตัวลดลง 12.7% จากปี2566 มาอยู่ที่ 11.3 พันล้านบาท ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย และผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมเฉลี่ย ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.2% และ 6.6% ตามลำดับ จากอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิที่ทรงตัว ในขณะที่อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (Loss ratio) ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 56.9% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2567 โดยเฉพาะในกลุ่มประกันภัยตัวเรือ ประกันอัคคีภัย และประกันสุขภาพจากต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนรวม (Combined Ratio) จากข้อมูลครึ่งแรกของปี 2567 ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราส่วนรวมอยู่ในช่วง 60%-75% อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ประกอบด้วย ประกันอัคคีภัย ประกันการเดินทาง ประกันขนส่งสินค้า และประกันภัยความรับผิดสาธารณะ

ในปี 2568 คาดว่า Loss ratio จะปรับตัวสูงขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่วนประกันภัยรถโดยสมัครใจ เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากต้นทุนการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่อยู่ในระดับสูง ประกันสุขภาพอาจมี Loss ratio ที่ลดลงจากการเริ่มใช้เกณฑ์การร่วม www. trisrating.com จ่ายค่ารักษาพยาบาล (Co-Payment) ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บริษัทประกันทำกำไรได้ในสภาพแวดล้อมที่มีการเติบโตต่ำและการแข่งขันด้านราคา ได้แก่การขายประกันที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างระมัดระวัง การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมต้นทุน การมีฐานข้อมูลที่ดี และการใช้ช่องทางจำหน่ายออนไลน์

– กำไรของกลุ่มบริษัทจดทะเบียน ทรงตัวในปี 2567

ผลประกอบการรวมของกลุ่มบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิ ในปี 2567 ใกล้เคียงกับในปี 2566 อัตราการขยายตัวของเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิเติบโต5.8% สูงกว่าอุตสาหกรรม ในขณะที่อัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมยังสามารถสร้างผลกำไรสุทธิได้ในปี 2565 ต่างจากผลขาดทุนในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างของนโยบายการรับประกันภัยและบริหารความเสี่ยง

– ผลขาดทุนที่ยังไม่รับรู้ของพอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์

การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้เกิดการขาดทุนที่ยังไม่รับรู้ของพอร์ตเงินลงทุนในตราสารหนี้และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(Real Estate Investment Trusts REITs) ของบริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่ง เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงินลงทุนผ่านงบกำไรขาดทุน และงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันเงินกองทุน อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอย่างช้า ๆ น่าจะยังช่วยให้รายได้ดอกเบี้ยจากเงินลงทุนอยู่ในระดับที่สูง ในขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยขาลงจะช่วยให้เกิดกำไรจากเงินลงทุนกรณีที่มีการขายพอร์ตตราสารหนี้พันธบัตร

 

  • ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

 

ทริสเรทติ้ง คาดว่า ผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัย จากความเสียหายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 น่าจะอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ ต่างจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เนื่องจากบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยจากมหันตภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ จะมีการทำประกันภัยต่อในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยขนาดเล็กที่ไม่ได้ทำประกันภัยต่อในสัดส่วนที่มากพอ หรือมีฐานะเงินกองทุนอ่อนแอ จะได้รับผลกระทบมากกว่า โดยความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว แบ่งออกเป็น 2 กรณี

1. ความเสียหายจากการพังถล่มของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความคุ้มครองอยู่3 ส่วน ส่วนแรก คือ ส่วนของตัวอาคารหรืองานก่อสร้างโดยมีมูลค่างานก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท มีความคืบหน้าของการก่อสร้างประมาณ 30-40% ของมูลค่าโครงการ ส่วนที่ 2 คือ ความคุ้มครองของทรัพย์สินของเจ้าของโครงการ ส่วนที่ 3 คือ ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ซึ่งส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 มีมูลค่าทุนประกันภัยไม่สูงนัก

2. ความเสียหายต่ออาคารที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รายงานว่าโดยรวมมี18 จังหวัดได้รับผลกระทบแต่มากที่สุด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ในส่วนของความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับคอนโดมิเนียมที่เป็นอาคารสูง จากที่สมาคมอาคารชุดไทยรายงาน โครงการคอนโดมิเนียมทั้งหมดในกรุงเทพฯ ที่เปิดใช้แล้วมีทั้งหมด 5,994 โครงการ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มูลค่าความเสียหายโดยรวมยังไม่สามารถประเมินได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่รับประกันภัยขนาดใหญ่ โดยปกติจะมีการทำประกันภัยต่อ เพื่อรองรับความเสียหายส่วนเกิน สำหรับความเสียหายจากภัยพิบัติหรือมหันตภัย Excess of Loss (XOL) ไว้อยู่แล้ว

อาคารที่เปิดใช้แล้ว มีประกันภัยที่ทำโดยนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว ประกอบไปด้วย ประกันภัย 2 ประเภท คือ 1. ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดหรือ Industry All Risk (IAR) และ 2. ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (Public Liability) โดยประกัน IAR โดยหลักประกอบด้วย ประกันในส่วนของโครงสร้างอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่ส่วนกลางและส่วนควบ ซึ่งโดยมากจะมีการขยายความคุ้มครองถึงห้องชุด และทรัพย์สินส่วนต่อเติมภายในห้องชุด สำหรับอาคารที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะมีประกันที่ทำโดยผู้ประกอบการ หรือผู้รับจ้างก่อสร้างอาคาร แบบ Contractors All Risk (CAR) และประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเช่นกัน

 

  • ปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors)

 

ธุรกิจประกันภัยเผชิญความเสี่ยงหลัก ได้แก่

1. ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ (Economic Risk) กำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าและไม่ทั่วถึง และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ระดับต่ำกว่าแนวโน้ม เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเบี้ยประกันภัยโดยรวมในระดับอุตสาหกรรม และสามารถนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น

2. ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ (Natural Catastrophe Risk) ความต้องการทำประกันภัยทรัพย์สินที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ จะเพิ่มความท้าทายการบริหารจัดการและกระจายความเสี่ยงจากพอร์ตการรับประกันภัยของบริษัทประกันภัย

3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนภาคเอกชน และการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของประกันภัยเชิงพาณิชย์

4. ความเสี่ยงด้านนโยบายภาครัฐ (Policy Risk) ความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง จะส่งผลกระทบต่อความต้องการทำประกันภัยในด้านอุตสาหกรรม เช่น ประกันภัย IAR และผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงพาณิชย์อื่น ๆ

5. ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย (Regulatory Risk) ธุรกิจประกันภัยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปภ. ดังนั้น การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้บริษัทประกันภัยต้องเผชิญภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการปรับปรุงระบบงาน การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และการฝึกอบรมบุคลากร หากบริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทันเวลา อาจนำไปสู่การถูกปรับ, การจำกัดขอบเขตการดำเนินงาน หรือแม้กระทั่งการถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งส่งผลเสียต่อฐานะทางการเงิน และความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 68)

Tags: , ,
Back to Top