
มาห์เล (MAHLE) บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ชั้นนำเผยปิดงบการเงินปี 2567 ด้วยผลกำไรสุทธิรวม แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสภาวะตลาดที่ท้าทาย โดยกำไรจากการดำเนินงาน (EBIT) เพิ่มขึ้นจาก 304 ล้านยูโร เป็น 423 ล้านยูโร ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% อย่างไรก็ตาม ยอดขายปกติ (organic sales) ลดลง 5.6% สู่ระดับ 11,700 ล้านยูโร โดยมีสาเหตุหลักมาจากตลาดที่อ่อนแอในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมทั้งความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ซบเซานอกประเทศจีน
“ด้วยการทุ่มเททำงานอย่างหนัก เราจึงสามารถยืนหยัดรักษาจุดยืนในการดำเนินธุรกิจเอาไว้ได้” มร. อาร์นด์ ฟรานซ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและซีอีโอกลุ่ม กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวประจำปีของบริษัท “กลยุทธ์ MAHLE 2030+ มีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ และช่วยให้เราทำกำไรได้แม้ในสภาวะตลาดที่ท้าทาย”
มาห์เลได้ปรับปรุงผลประกอบการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยแผนงานประหยัดต้นทุนและการปรับพอร์ตธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า การจัดการความร้อน และเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ยั่งยืน ความพยายามเหล่านี้ทำให้บริษัทสามารถลดหนี้สินลง 186 ล้านยูโร พร้อมกับรักษาสภาพคล่องด้วยการรีไฟแนนซ์ที่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี ในอนาคต มาห์เลจะยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ เนื่องจากคาดว่าปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐฯ จะทำให้สภาพตลาดในปี 2568 เผชิญกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้น
“แม้ว่าจะต้องเผชิญกับสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยและยอดขายที่ลดลง แต่เรายังคงสามารถรักษาจุดยืนของเราได้อย่างมั่นคง นี่คือความสำเร็จอันเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” มร.มาร์คุส คาพอน สมาชิกคณะกรรมการบริหารและซีเอฟโอของกลุ่มบริษัท กล่าว
ธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยยอดขายปกติของธุรกิจการจัดการความร้อน (Thermal Management) อยู่ที่ 4.1 พันล้านยูโร ลดลง 9.9% ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และเมคคาทรอนิกส์ (Electronics and Mechatronics) มียอดขาย 1.3 พันล้านยูโร ลดลงจากปีก่อนหน้า 5.7% ธุรกิจระบบเครื่องยนต์และส่วนประกอบ (Engine Systems and Components) มีรายได้ 2.4 พันล้านยูโร ลดลง 8%
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอะไหล่ทดแทน (Aftermarket) มียอดขายเพิ่มขึ้น 6.2% เป็น 1,300 ล้านยูโร โดยปัจจัยหลักมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นจากการปรับพอร์ตธุรกิจและมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ
แม้ว่ายอดขายลดลง แต่มาห์เลสามารถปรับปรุงอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (EBIT margin) เป็น 3.6% ความสำเร็จนี้เกิดจากความเด็ดขาดในการปรับพอร์ตธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการขายหุ้นในแบร์-เฮลล่า เทอร์โมคอนโทรล (Behr-Hella Thermocontrol: BHTC) และธุรกิจรับจ้างผลิตวาล์วน้ำ (OEM thermostat)
นอกจากนี้ มาห์เลยังได้นำมาตรการปรับปรุงกระบวนการและการเพิ่มประสิทธิภาพมาใช้อย่างครอบคลุม ทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารและการขายให้เหมาะสม ปรับเครือข่ายการผลิต ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น และปรับจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับปริมาณการขายที่ลดลง
หนี้สินลดลง ส่วนของผู้ถือหุ้นดีขึ้น
ความพยายามเหล่านี้ช่วยลดหนี้สินของมาห์เลลง 186 ล้านยูโร เหลือ 1,200 ล้านยูโรในปี 2567 อัตราส่วนหนี้สินดีขึ้นจาก 1.5 เป็น 1.2 และด้วยความสามารถในการรักษาสภาพคล่อง บริษัทจึงสามารถเดินหน้าแผนการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานต่อไปได้ นอกจากนี้ ส่วนของผู้ถือหุ้นยังเพิ่มขึ้นเป็น 20.1% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบห้าปี
การวิจัยและพัฒนา
มาห์เลได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นจำนวนเงิน 630 ล้านยูโรในปี 2567 ทำให้อัตราส่วน R&D เพิ่มขึ้นเป็น 5.4% ของยอดขาย บริษัทได้ยื่นขอสิทธิบัตร 427 รายการ และรายงานการประดิษฐ์ใหม่ 536 รายการ ซึ่งตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมยืนยันสถานะที่แข็งแกร่งในฐานะผู้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
นวัตกรรมและคำสั่งซื้อที่ได้รับ
เหตุการณ์เด่น ๆ ในปี 2567 คือการเปิดตัวพัดลมไบโอนิกประสิทธิภาพสูงรุ่นใหม่ของมาห์เล ซึ่งช่วยลดเสียงรบกวนในรถยนต์ไฟฟ้าประเภทเซลล์เชื้อเพลิงและแบตเตอรี่ลงได้เป็นอย่างมาก ตลอดจนความก้าวหน้าในส่วนอื่น ๆ ได้แก่ ระบบทำความเย็นแบบระเหยสำหรับรถบรรทุกที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง และการรวมมอเตอร์ไฟฟ้า Superior Continuous Torque เข้ากับเพลาขับไฟฟ้าเต็มรูปแบบสำหรับการใช้งานกับรถบรรทุกหนัก
มาห์เลได้รับคำสั่งซื้อใหม่มูลค่ารวม 10,300 ล้านยูโร ซึ่งรวมถึงคำสั่งซื้อโมดูลการจัดการความร้อนมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านยูโร และคำสั่งซื้อที่สำคัญ ๆ เพิ่มเติมอย่างระบบระบายความร้อนแบตเตอรี่และคอมเพรสเซอร์ไฟฟ้า
มาห์เลยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์ MAHLE 2030+ อย่างมั่นคง โดยมีจีนเป็นตลาดหลักที่มีการเติบโต ทั้งนี้ บริษัทได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ OEM จีนและประเทศอื่น ๆ และมองเห็นโอกาสเพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วนตลาดยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV)
โครงสร้างกลุ่มใหม่และสาขาธุรกิจใหม่
มาห์เลได้เปิดตัวกลุ่มองค์กรใหม่ในช่วงปลายปี 2567 ด้วยการควบรวมธุรกิจต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินงานด้านระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าและการจัดการความร้อน พร้อมทั้งปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าว่า โครงสร้างใหม่นี้จะช่วยปรับปรุงความร่วมมือภายในและเร่งการตัดสินใจให้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ มาห์เลยังมองเห็นศักยภาพของการเติบโตที่นอกเหนือไปจากภาคส่วนยานยนต์ นำโดยธุรกิจระบบขับเคลื่อนและวงจรชีวิตของยานยนต์ (Lifecycle and Mobility) ที่พร้อมจะเป็นเสาหลักของการเติบโต เพราะได้รับการสนับสนุนจากความเชี่ยวชาญด้านการจัดการความร้อน มอเตอร์ไฟฟ้า และโซลูชันนวัตกรรมสำหรับระบบขับเคลื่อนและวงจรอายุการใช้งานยานยนต์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 68)
Tags: ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์, มาห์เล