แนวโน้มดัชนีเช้าปรับตัวขึ้นแต่อัพไซด์จำกัด รอความชัดเจนเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ เกาะติดงบแบงก์

นักวิเคราะห์ ฯ ระบุตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดดัชนีปรับตัวขึ้นต่อได้ จากความคาดหวังผลการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 เม.ย. นี้ อย่างไรก็ตามอัพไซด์ยังจำกัด เนื่องจากประเด็นสงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอน แนะช่วงนี้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/68 ของหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งโดยรวมออกมาตามคาดถึงดีกว่าคาด น่าจะช่วยหนุนแรงกระตุ้นเก็งกำไรงบรายตัว ทั้งนี้วันนี้ตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการอาจทำให้การซื้อขายเงียบเหงา โดยให้กรอบแนวต้าน 1,160 จุด และแนวรับ 1,130 จุด

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า แนวโน้มตลาด

หุ้นไทยเช้านี้ลุ้นดัชนีปรับตัวขึ้นต่อได้ จากความหวังผลการเจรจาการค้าที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยไทยจะเจรจาการค้ากับสหรัฐในวันที่ 23 เม.ย. นี้

อย่างไรก็ตามอัพไซด์ยังจำกัดอยู่ เนื่องจากประเด็นนโยบายภาษีการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังมีความไม่แน่นอนรวมทั้งการเจรจามาตรการภาษีที่ยังไม่ทราบผล แนะช่วงนี้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งโดยรวมออกมาตามที่ตลาดคาดถึงดีกว่าคาด ซึ่งน่าจะช่วยหนุนแรงกระตุ้นเก็งกำไรงบไตรมาส 1/68 ในหุ้นรายตัว

โดยวันนี้ตลาดหุ้นยุโรปหยุดต่อเนื่องจากวันศุกร์อาจทำให้การซื้อขายเงียบเหงา ทั้งนี้ติดตาม ธนาคารกลางจีนประกาศอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (LPR) ซึ่งคาดว่ายังคงดอกเบี้ยตามเดิม ขณะที่วันที่ 22 เม.ย. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตรียมเปิดเผยประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่ได้คำนึงถึงสงครามการค้าที่มีการขึ้นภาษีระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มปรับประมาณการลงทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว จากปัจจุบันคาดเศรษฐกิจโลกปี 68 และ 69 ขยายตัว 3.3% ก็อาจจะมีการปรับลดลงอีก

โดยให้กรอบแนวต้าน 1,160 จุด และแนวรับ 1,130 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุนประเด็นพิจารณาการลงทุน

– ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำการวันศุกร์ที่ 18 เม.ย. เนื่องในวัน Good Friday

– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีนิกเกอิตตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดที่ 34,556.23 จุด ลดลง 174.05 จุด หรือ -0.50% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตเปิดที่ระดับ 3,273.14 จุด ลดลง 3.59 จุด หรือ -0.11% ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดทำการวันนี้ เนื่องในเทศกาลอีสเตอร์

– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (18 เม.ย.) 1,150.95 จุด เพิ่มขึ้น 9.67 (+0.85%) ด้วยมูลค่าซื้อขายราว 27,692.89 ล้านบาท

– นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ (18 เม.ย.) 1,301.08 ล้านบาท

– ตลาดน้ำมันนิวยอร์กปิดทำการวันศุกร์ที่ 18 เม.ย. เนื่องในวัน Good Friday

– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (18 เม.ย.) 2.64 เหรียญ/บาร์เรล

– เงินบาทเปิด 33.27 แข็งค่ารอบกว่า 6 เดือน สัปดาห์นี้จับตาตัวเลขส่งออกไทย-ทิศทาง

– ภาษีทรัมป์กระทบเศรษฐกิจไทย “คลัง” หั่นจีดีพี 28 เม.ย.นี้ คาดลดลง 1% รัฐบาล เตรียมปรับใหญ่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง สกัดเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค ดันเงินลงทุนรัฐ จัดมาตรการช่วยเฉพาะกลุ่ม วางกรอบงบปี 69 รับมือ ‘ทรัมป์’ ต่อเนื่อง ด้านนักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยเผชิญสารพัดวิกฤติทั้งในและนอกประเทศโดยเฉพาะ ‘ทรัมป์ เอฟเฟกต์’ ขณะที่ในประเทศเศรษฐกิจ อ่อนแอหนัก เปิด 3 ปัจจัยฉุดไทยเผชิญวิกฤติถดถอย

– คลังตั้งรับวิกฤตเศรษฐกิจโลก-การค้าโลกหดตัว ตุนกระสุนเดินแผน ขยายเพดานหนี้เกิน 70% ต่อจีดีพี หวังใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หนุนจ้างงานในประเทศ ชดเชยภาคส่งออกหดตัว กระทบจ้างงานภาคการผลิต พร้อมทบทวนมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต ฉวยจังหวะ “จัดทัพ-แก้ปัญหา” ภายในประเทศ ถกแบงก์ชาติ เตรียม มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้านสภาพัฒน์นัดถกสำนักงบฯ ปรับแผนงบประมาณ ธปท.ประเมินช็อกใหญ่-ช็อกยาวนาน คาดฉุด จีดีพีไทยต่ำกว่า 2.5% จับตาความเสี่ยงใหญ่ส่งออกหดตัว กระทบเลิกจ้าง-เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

– จับตาพายุเศรษฐกิจ 3 ลูก เป็น Perfect Storm ทุบตลาดที่อยู่อาศัยปี 2568 ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเปิดตัว เลขบ้านมือสองโอนกรรมสิทธิ์กระหึ่ม 62% เบียดแชร์บ้านใหม่เหลือ 38% ลุ้นรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ดันจีดีพี 3% แกะปัญหาทีละปม ชี้ผู้บริโภคคอนโดฯอาฟเตอร์ช็อกไม่เกิน 3 เดือนกลับสู่ภาวะปกติ ภาษีทรัมป์เสี่ยงสุด รับสภาพบ้านมือสองทางเลือกลูกค้า K ขาล่าง ยอดโอนราคาไม่เกิน 2 ล้านทะลุ 4.5 แสนล้านบาท

– “กพอ.” เดินหน้าดัน “ปราจีนบุรี” เป็น EEC จังหวัดที่ 4 ต่อจากฉะเชิงเทรา- ชลบุรี-ระยอง เล็งประกาศพื้นที่ทั้งจังหวัด เริ่มที่กบินทร์บุรี-ศรีมหาโพธิ ก่อน เพราะมีอุตฯอยู่แล้ว ก่อนไปถึงอำเภออื่น เผยรับฟังความคิดเห็น คนในพื้นที่แล้ว แต่ต้องทำอีก 4 ครั้ง ตั้งเป้าเสร็จภายใน ก.ย.นี้ ด้านสภาอุตฯ-สภาหอฯปราจีนบุรี กังวลเรื่องปัญหาน้ำ-มลพิษ แนะทำอุตฯสีเขียวคู่กับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะเป็นจังหวัดที่ปลูกพืชสมุนไพร และผักผลไม้เกษตรอินทรีย์

– ส.อ.ท.เผยผู้ส่งออกไทยเร่งเพิ่มกำลังผลิต ตุนออเดอร์ เร่งส่งออกช่วง 90 วันก่อนสหรัฐฯ บังคับใช้ภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ ผู้ส่งออกข้าวเผยเทรดเดอร์สหรัฐฯ เร่งสั่งซื้อเพิ่ม 2-3 เท่า แนะเอ็กซิมแบงก์ตั้งวงเงินช่วยเหลือเพิ่ม 1.5 เท่า ขณะที่ WHA เผยนักลงทุนจีนรายใหญ่เดินหน้าลงทุนในไทย

– เป้ารายได้รวม “การท่องเที่ยว” 3.5 ล้านล้านบาทปี 68 สะดุด “แพทองธาร” ยอมปรับลดเป้ารายได้ “ต่างชาติเที่ยวไทย” เหลือ 2 ล้านล้านบาทเท่าปี 62 ก่อนวิกฤติโควิด สั่งการภาครัฐผนึกเอกชนเร่งเวิร์กช็อประดม สมองหลังเทศกาลสงกรานต์หาแนวทาง กู้รายได้ “สรวงศ์” หั่นยอด “จีนเที่ยวไทย” ขอ 6.7 ล้านคนเท่าปี 67 หลังสถิติสะสมถึง 13 เม.ย. 1.3 ล้านคน เฉพาะ 3 เดือนแรก จมแดนลบ ร่วง 24% “ททท.” ลุยกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง เบ่งยอดตลาดศักยภาพชดเชยจีน

หุ้นเด่นวันนี้

BTG (ลิเบอเรเตอร์) ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 24.10 บาท คาดแนวโน้มกำไรไตรมาส 1/68 จะเติบโตทั้ง q-q และ y-y สอดคล้องกับราคาหมูในประเทศที่ปรับขึ้นเด่น จากอุปทานที่ออกสู่ตลาดไม่มากนัก โดยตั้งแต่ต้นปีราคาปรับตัวขึ้นแล้ว +19%YTD ผสานกับด้านต้นทุนสินค้าเกษตรเลี้ยงสัตว์ในระยะสั้นยังมีแนวโน้มลดลง คาดหนุนอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น ขณะที่ Valuation ปัจจุบันเทรดเพียง PE 10.6 เท่า น่าทยอยสะสม

SCGP (กสิกรไทย) ราคาพื้นฐาน 14.00 บาท เรามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อ SCGP จากงบในไตรมาส 1 ปี 2568 ที่คาดว่าจะออกมาที่ระดับ 779 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากในไตรมาส 4 ปี 2567ที่ผ่านมา โดยในปี 2568 เรามองว่าจะไม่มีรายการพิเศษขนาดใหญ่อย่างในไตรมาส 4 ปี 2567 มารบกวนการฟื้นตัวของ SCGP ในปีนี้ เราประเมินรายได้มีโอกาสเติบโตได้ราว 3-4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาจากปริมาณขายที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทย และเราคาดว่าในไตรมาส 2 ปี 2568 SCGP มีโอกาสได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากการเติมสต็อกสินค้าต่างๆ ภายใน 90 วัน ก่อนที่ US reciprocal tariff จะเริ่มบังคับใช้ในไตรมาส 3 ปี 2568 นี้ อีกทั้งเรามองว่า Fajar จะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2568 โดยในไตรมาส 1 ปี 2568 คาดว่าจะเห็นผลขาดทุนที่ลดลงจาก 200 ล้านบาท และมีโอกาสจะเห็น EBITDA breakeven ในไตรมาส 2 ปี 2568 นี้

-KTB (กรุงศรี) “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 27 บาท i) ปันผลต่อปีสูง dividend yield คาดที่ 7-8% ii) ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จำกัด เพราะขยายสินเชื่อไปยังสินเชื่อภาครัฐ และบริหารคุณภาพลูกหนี้ได้ดี สำหรับกำไรสุทธิไตรมาส 1/68 ที่ 1.17 หมื่นลบ. ใกล้เคียงกับเราและตลาดคาด โดยกำไรทรงตัว y-y และ +7% q-q เพราะ i) การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุน(investment) จากการขาย bond ii) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ลดลง ตามปัจจัยฤดูกาล สำหรับสินเชื่อลดลง -1.3 % q-q คิดเป็น -1.3% YTD จากสินเชื่อธุรกิจ ด้านคุณภาพสินทรัพย์บริหารได้ดีมาก NPL Ratio อยู่ที่ 2.97% ลดลงจากไตรมาส 4/68 ที่ 2.99%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 เม.ย. 68)

Tags: , , ,
Back to Top