อย.สหรัฐฯ สั่งเบรกตรวจคุณภาพห้องแล็บอาหาร หลังถูกลดพนักงานครั้งใหญ่

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) จำต้องระงับโครงการควบคุมคุณภาพสำหรับห้องปฏิบัติการทดสอบอาหารเป็นการชั่วคราว สืบเนื่องจากการลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่ภายในกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ (HHS)

โครงการควบคุมคุณภาพซึ่งดำเนินการภายใต้เครือข่ายตอบโต้เหตุฉุกเฉินด้านอาหาร (FERN) มีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักประกันถึงความน่าเชื่อถือและความแม่นยำของเครือข่ายห้องปฏิบัติการราว 170 แห่งทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่ตรวจหาสิ่งปนเปื้อนและเชื้อโรคในอาหาร เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค

การตัดสินใจครั้งนี้เป็นผลโดยตรงจากการขาดแคลนบุคลากรสำคัญ ทั้งเจ้าหน้าที่ประกันคุณภาพ นักเคมี และนักจุลชีววิทยา ส่งผลให้โครงการต้องหยุดชะงักไปอย่างน้อยจนถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้

นั่นหมายความว่า FDA จะไม่สามารถดำเนินการทดสอบตามแผนที่วางไว้ได้หลายรายการ อาทิ การตรวจหาพยาธิ Cyclospora ในผักโขม หรือสารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเสต (glyphosate) ในข้าวบาร์เลย์ ซึ่งการทดสอบเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษามาตรฐานและการรับรองคุณภาพของห้องปฏิบัติการ

เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา FDA ก็เพิ่งระงับการพัฒนาการทดสอบเชื้อไข้หวัดนกในนม ชีส และอาหารสัตว์เลี้ยง ด้วยเหตุผลด้านการลดพนักงานเช่นกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบจากการปรับลดงบประมาณของ HHS ที่อาจสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน FDA กำลังพิจารณาแผนการที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งใหญ่ โดยอาจยุติการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารตามวาระปกติ และถ่ายโอนความรับผิดชอบนี้ให้กับหน่วยงานระดับรัฐและท้องถิ่นเข้ามาดูแลแทน แม้แผนดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาและอาจต้องรอการอนุมัติงบประมาณจากสภาคองเกรส

แนวคิดหลักเบื้องหลังของแผนนี้คือการเปิดทางให้ FDA สามารถทุ่มเททรัพยากรไปกับการตรวจสอบที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจสอบสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หรืออาหารที่มีความสำคัญยิ่งยวด (เช่น นมผงสำหรับทารก) ได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการทำงานกับหน่วยงานระดับรัฐ ซึ่งปัจจุบัน FDA ก็ได้มีการทำสัญญาว่าจ้างให้ 43 รัฐและเปอร์โตริโกดำเนินการตรวจสอบอาหารบางประเภทอยู่แล้ว

ผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ชี้ว่า หน่วยงานระดับรัฐอาจดำเนินการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพและด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างความร่วมมือในลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่แล้ว เช่น โครงการกำกับดูแลความปลอดภัยนม (Grade A Milk Safety Program) และการตรวจสอบผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งรัฐมีบทบาทหลักในการดำเนินการภายใต้มาตรฐานที่ FDA กำหนด การปรับเปลี่ยนนี้ยังอาจช่วยคลี่คลายปัญหาการตรวจสอบที่ล่าช้าในต่างประเทศและในกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

ทว่า แผนการดังกล่าวก็ก่อให้เกิดความกังวลไม่น้อย ทั้งในประเด็นเรื่องกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรอย่างมหาศาล ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารโดยรวม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่หน่วยงานเพิ่งประสบปัญหาการเลิกจ้างพนักงาน

นักวิจารณ์บางส่วน เช่น จากสหพันธ์ผู้บริโภคแห่งอเมริกาเตือนว่า แม้ตามทฤษฎี การให้รัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอาจนำไปสู่ความปลอดภัยอาหารที่ดีขึ้นได้ แต่การเปลี่ยนผ่านต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง และแสดงความกังขาต่อแผนการนี้เมื่อพิจารณาจากการดำเนินการล่าสุดของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อการตรวจและป้องกันโรคจากอาหารอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า รัฐที่ยังไม่มีข้อตกลงกับ FDA ในปัจจุบันจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 68)

Tags: , ,
Back to Top