
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้การประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 เป็นวันที่สอง โดยข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 12 เม.ย.68 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย.68 เกิดอุบัติเหตุ 248 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 257 คน ผู้เสียชีวิต 30 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.92 ดื่มแล้วขับ 22.18 และตัดหน้ากระชั้นชิด 20.97
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.77 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.87 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.32 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.87 ถนนกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 11.29 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 – 18.00 น. เวลา 18.01 – 21.00 น. และเวลา 06.01-09.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 19.86 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,689 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ มุกดาหารและลำพูน (จังหวัดละ 13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (11 เม.ย. – 12 เม.ย.68) เกิดอุบัติเหตุรวม 460 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 458 คน ผู้เสียชีวิต รวม 59 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 44 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (23 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (25 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (9 ราย)
ซึ่งจากสถิติสะสม 2 วัน ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสองอันดับแรก คือ 1.การขับรถเร็วเกินกำหนด และ 2.การดื่มแล้วขับ จึงขอให้จังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ในการปฏิบัติงาน เพิ่มความละเอียดในการตรวจตราเพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย ดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่จำหน่ายให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเด็ดขาด หากพบการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณที่มีการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) สถานที่ท่องเที่ยว และบริเวณที่มีการจัดงานรื่นเริง ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย
“ให้ความสำคัญกับการควบคุมและดูแลสถานบริการให้เปิด-ปิดตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เพิ่มความเข้มข้นของด่านชุมชนและการใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็วในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม รวมถึงตักเตือนผู้ทำพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น การขับขี่ไม่ปลอดภัย การดื่มแล้วขับ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย การโดยสารท้ายกระบะอย่างไม่ปลอดภัย ก่อนออกจากพื้นที่ชุมชนหรือหมู่บ้านเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน”
พ.ต.อ.ทวี เผยว่า นอกจากนี้ ให้จังหวัดเตรียมความพร้อมของระบบสื่อสารและการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ เพื่อประสานการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความสะดวกให้รถพยาบาลและรถฉุกเฉินให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุและส่งตัวผู้ประสบเหตุไปยังโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 68)
Tags: 7 วันอันตราย, ทวี สอดส่อง, สงกรานต์