
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การพลิกกลับไปมาของนโยบายภาษีศุลกากรทรัมป์สร้างความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความผันผวนสูงในตลาดการเงินและการลงทุน สร้างความไม่แน่นอนต่อการวางแผนทางธุรกิจ การผลิต การค้าและการเงิน
ล่าสุด มีการยืดการปรับเพิ่มกำแพงภาษีประเทศต่างๆไปอีก 90 วันแต่พุ่งเป้าเก็บภาษีไปที่จีน โดยจีนถูกเก็บภาษีสูงถึง 104% ขณะที่ จีนเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาตอบโต้ในอัตราภาษีสูงถึง125% คาดปริมาณและมูลค่าการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯลดลงอย่างมากจากเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกันเกิน 100% สองประเทศจะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทนหากการผลิตภายในไม่สามารถตอบสนองได้ทั้งหมด
การเก็บภาษีศุลกากรสูงกว่า 100%ย่อมส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ กดดันให้จีดีพีโลกเติบโตต่ำกว่า 3% และมีความเป็นไปได้ที่ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกโตได้ต่ำกว่า 2% นอกจากนี้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในบางประเทศ ส่งผลลบต่อตลาดแรงงานและภาคการผลิต
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าแม้นตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดหุ้นคลายความวิตกกังวลผลกระทบสงครามการค้าจากการยืดการเก็บภาษีประเทศต่างๆ โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวแรง แต่มีข้อสงสัยมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประธานาธิบดีทรัมป์และเครือข่ายธุรกิจผู้สนับสนุนได้หาประโยชน์อันมิชอบจากการสร้างความไม่แน่นอนต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯหรือไม่
นักการเมืองฝ่ายค้านพรรคเดโมแครตได้ตั้งข้อสังเกตและเตรียมตรวจสอบต่อเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ วุฒิสมาชิกอลิซาเบธ วอเรน จาก Massachusetts ได้เรียกร้องให้ กลต. สหรัฐอเมริกาตรวจสอบความไม่โปร่งใสและผลประโยชน์ทับซ้อนจากการหาประโยชน์จากข้อมูลภายในของนโยบายกีดกันการค้าของรัฐบาลทรัมป์ การพลิกกลับไปมาของนโยบายทำให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของทรัพย์สินทางการเงินและราคาหุ้น ช่องว่างของราคาขึ้นลงมากกว่าภาวะปรกติอย่างมาก การใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading)จึงเป็นการเอาเปรียบและเป็นช่องทางการหาประโยชน์บนความเสียหายของนักลงทุนส่วนใหญ่
การหาประโยชน์อาจเกิดขึ้นโดยเครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองและธุรกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ แต่ต้องมีการสืบสวนให้ชัดเจนเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง มีการส่งสัญญาณผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยตัวท่านประธานาธิบดีว่า “This is a great time to buy”ในช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างรุนแรงจากการปรับขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าจากทั่วโลก หลังจากตลาดหุ้นตกต่ำต่อเนื่องหลายวันประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศเลื่อนการจัดเก็บภาษีนำเข้าออกไปอีก 90 วันยกเว้นประเทศจีน การเปิดช่องหาประโยชน์ข้อมูลภายในจากความผันผวนตลาดการเงินและตลาดหุ้นด้วยการสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจการค้าต่อประชาคมโลกเช่นนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ และพัฒนากลไกและระบบป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สงครามการค้าของสหรัฐฯอาจนำมาสู่การตอบโต้ของธนาคารกลางจีนในการเทขาย พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯซึ่งธนาคารกลางจีนถือครองจำนวนมาก ยังมีความไม่ชัดเจนว่าการทรุดตัวลงของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเป็นผลจากแรงเทขายของธนาคารกลางจีนหรือการเทขายของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั้งหลาย ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจนำไปสู่ US dollar Squeeze ได้ท่ามกลางตลาดหุ้นผันผวนสูงสุด ทั้งสวิงขึ้นแรงและดิ่งลงแรง ตลาดการเงินโลกอาจเกิดวิกฤติจากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ได้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.58% จากระดับเพียง 4.01% เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ภาวะดังกล่าวเป็นผลจากการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อถือเงินสดในมือแทน การยืดการใช้อัตราภาษีตอบโต้ทางการค้า (Reciprocal Tax) ทำให้ตลาดการเงินคลายความกังวลลงบ้างแต่ปัญหาไม่ได้จบลง หากรัฐบาลสหรัฐฯออกพันธบัตรรัฐบาลแล้วนักลงทุน (เจ้าหนี้) รายใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น ไม่ซื้อ ไม่ถือครองจะเกิดอะไรขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าเงินและระบบการเงินในปัจจุบันตั้งอยู่บนระบบ Fiat Money หรือ Fractional Reserve โดยในอดีตนั้นประเทศต่างๆมักจะกำหนดให้ค่าเงินสกุลของประเทศตัวเองให้คงที่กับโลหะมีค่าหรือสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งและพยายามรักษาค่าเงินให้คงที่ ประเทศส่วนใหญ่จะพยายามรักษาค่าเงินของตัวเองเมื่อเทียบกับโลหะทองคำ จึงเรียกว่า ระบบมาตรฐานทองคำ มาตรฐานเงินตราอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ มาตรฐานโลหะ (Metallic Standard) มาตรฐานกระดาษ (Inconvertible paper standard) มาตรฐานโลหะยังแบ่งออกเป็น 4 ประเภทย่อย ได้แก่ มาตรฐานโลหะสองชนิด (Bimetallism) มาตรฐานทองคำ (Gold standard) มาตรฐานเงิน (Silver standard) มาตรฐานโลหะผสม (Symmetallism)
ระบบเบรตตันวูดส์เป็นตัวอย่างแรกของระเบียบการเงินที่มีการเจรจาอย่างสมบูรณ์โดยเจตนาเพื่อปกครองความสัมพันธ์การเงินระหว่างรัฐชาติเอกราช ลักษณะสำคัญของระบบเบรตตันวูดส์ คือ ทุกประเทศมีพันธกรณีใช้นโยบายการเงินซึ่งธำรงอัตราแลกเปลี่ยนโดยผูกเงินตราของประเทศกับทองคำและความสามารถของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมการเสียดุลการชำระเงินชั่วคราว นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต้องจัดการการขาดความร่วมมือระหว่างประเทศและเพื่อป้องกันการลดค่าเงินตราแข่งขันด้วย
การประชุมที่เบรตตันวูดส์ มีการสถาปนากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)และธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (IBRD) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารโลก องค์การเหล่านี้เริ่มปฏิบัติงานในปี 2488 หลังประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันความตกลงมากแล้ว วันที่ 15 สิงหาคม 2514 สหรัฐยุติการแปลงดอลลาร์สหรัฐเป็นทองคำฝ่ายเดียวทำให้ระบบเบรตตันวูดส์ถึงคราวสิ้นสุดและดอลลาร์กลายเป็นเงินเฟียต (fiat currency)
ดอลลาร์สหรัฐถูกใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศต่างๆทั่วโลก ระบบการเงินมีลักษณะรวมศูนย์(Centralized Finance หรือ CeFi) มาโดยตลอด มีเงินอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรก คือ เงินที่ออกโดยรัฐ คือ Public Money หรือ Fiat Money ประเภทที่สอง เป็นเงินที่ออกโดยเอกชน หรือ Private Money ที่มาต่อยอด เช่น การสร้างเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งการสร้าง e-Money ในลักษณะต่างๆ เนื่องจากเงินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นเงินเฟียต (Fiat Money) เป็นเงินตราที่อำนาจรัฐตราขึ้นให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่ได้มีโลหะมีค่าหนุนหลังเต็มจำนวน
โดยที่สิ่งที่นำมาใช้เป็นเงินนั้นไม่ใช่โลหะมีค่า เช่น เงินธนบัตรก็เป็นเพียงกระดาษ การยกเลิกการผูกเงินกระดาษกับทองคำก็เพื่อให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟียตจึงเหมือนเป็น “หนี้”ของธนาคารกลางที่ออกมาให้คนถือครองโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย มันมีค่าเพราะเราเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจในระบบการเงินและธนาคารกลาง การยกเลิกผูกเงินไว้กับทองคำทำให้ธนาคารกลางสามารถควบคุม”นโยบายการเงิน” ได้มากกว่าเดิม หากธนาคารบริหารนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่หากธนาคารกลางเกิดบริหารนโยบายการเงินผิดผลาด เพิ่มปริมาณเงินด้วยนโยบาย Quantitative Easing และ พิมพ์เงินเข้ามาในระบบมาเกินไปก็อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) Cryptocurrency เกิดขึ้นและท้าทายระบบ Fiat Money อย่างชัดเจน เป็นเหมือนการดึงอำนาจการพิมพ์เงินและการควบคุมปริมาณเงินออกจากระบบธนาคารกลาง หากประชาชนหันไปใช้ Cryptocurrency มากขึ้นย่อมทำให้ความสามารถในการควบคุมปริมาณเงินโดยธนาคารกลางลดลง
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ธนาคารกลางนั้นจะออกแบบโครงสร้างแบบ 2 ชั้น (Two-tier System) เพื่อให้ประชาชนที่ถือ Private Money สามารถแลกกลับมาเป็น Fiat Money ได้ทำให้ประชาชนที่ถือเงินมีความปลอดภัยและเงินที่ถือมีสภาพคล่องสูงเงิน ทั้งสองรูปแบบในระบบการเงินแบบรวมศูนย์นี้จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเอกชน กับ บทบาทเงินภาครัฐที่เน้นเสถียรภาพเชิงระบบในระบบนี้ธนาคารกลางจะทำหน้าที่ ผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of Last Resort)อันเป็นกลไกค้ำประกันความมั่นคงของระบบการเงิน
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized finance – DeFi) ขยายตัวและต้นทุนทางการเงินต่ำลง การถือสกุลเงินดิจิทัลไว้เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและการใช้บริการกู้เงินระหว่างกันผ่านแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางทางการเงิน แนวโน้มดังกล่าวทำให้ Fiat Money อาจมีบทบาทลดลงในภาคการเงิน (Adrian &Mancini-Griffoli, 2021) หากเงินดิจิทัลไม่ว่าออกโดยเอกชนในประเทศหรือต่างประเทศมีบทบาทมากขึ้น และสามารถทำหน้าที่ในการเป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of Account) ดีขึ้น เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ดีขึ้น เป็นหน่วยในเก็บรักษาและสะสมมูลค่า (Store of Value) ดีขึ้นอาจจะส่งผลให้บทบาทของธนาคารกลางและอธิปไตยทางการเงิน (Monetary Sovereignty) ลดลง
การออกเงินสกุลดิจิทัลรายย่อย (Retail CBDC) จะช่วยรักษาสมดุลระหว่าง Fiat Money กับสกุลดิจิทัลทางเลือก ทำให้ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยทางการเงินลดลง นอกจากนี้ในประเทศใดที่มีความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารกลางและมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางย่อมทำให้อธิปไตยทางการเงินเข้มแข็งขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่าความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินตึงตัวในบางประเทศอาจเกิดขึ้นได้หาก สงครามการค้า ลามมาเป็นสงครามตลาดการเงินและค่าเงิน การมีสภาพคล่องของการซื้อขาย (Trading Liquidity) ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการผู้ซื้อผู้ขายอย่างเต็มที่ เมื่อผู้ซื้อขายเข้ามาในตลาดการเงินด้วยความต้องการที่หลากหลาย ตลาดการเงินก็ควรมีความสามารถในการตอบสนองความต้องการเหล่านี้ให้ได้
แนวทางหนึ่งซึ่งตลาดสามารถทำได้ก็โดยการขยายความกว้างของตลาดเอง (Market Breadth)ให้ครอบคลุมสินทรัพย์ทางการเงินมากกลุ่ม ทั้งกลุ่มหนี้สิน กลุ่มทุนและกลุ่มอนุพันธ์ ภาวะเงินตึงตัว ขาดสภาพคล่องในบางประเทศ ทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ขณะเดียวกันตลาดการเงินโลกที่มีการเก็งกำไรแบบ Speculation และ การเก็งกำไรแบบ Arbitrage Profit มากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนและเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจได้
ตลาดการเงินเคลื่อนไหวเร็วผันผวนสูง เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสของนักลงทุน แนะนำให้ถือครองเงินสดเพิ่มขึ้น รอจังหวะเข้าลงทุนในแต่ละช่วงที่หุ้นปรับฐานลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมากๆเป็นระยะๆในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ความไม่แน่นอนในระยะ 3 เดือนย่อมก่อให้เกิดการชะลอการลงทุน ชะลอการบริโภค ชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่อาจมีการเร่งตัวขึ้นของธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศทั้งการส่งออกนำเข้าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกำแพงภาษีที่อาจเพิ่มขึ้นใน 3 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจึงมีความไม่แน่นอนสูงยิ่งความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จนอาจเกิด Stagflation ในบางประเทศได้แต่ยังไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในอนาคตอันใกล้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 เม.ย. 68)
Tags: ภาษีนำเข้า, ภาษีศุลกากร, สงครามการค้า, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย