Spotlight: สหรัฐฯ vs จีน ดวลเดือด สวนกันหมัดต่อหมัด ใครจะเป็นผู้ชนะในสังเวียนการค้า

นโยบายกำแพงภาษีล่าสุดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นวงกว้าง โดยทรัมป์กำหนดภาษีต่อคู่ค้าสหรัฐฯ เกือบทุกประเทศ ไม่สนว่าเป็นมิตรหรือศัตรู แต่มาตอนนี้ ดูเหมือนว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะกลายเป็นการดวลกันแบบตัวต่อตัวระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนไปซะแล้ว เมื่อทรัมป์ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีสินค้าจากทุกประเทศออกไปอีก 90 วัน แต่กลับยกเว้นจีน แถมยังขึ้นภาษีจีนสูงกว่าเดิมเสียอีก

โดยในขณะที่หลายประเทศเร่งรีบติดต่อสหรัฐฯ เพื่อขอเจรจาลดหรือยกเลิกภาษี โดยอ้างถึงความเป็นพันธมิตรที่ดีระหว่างกัน แต่นั่นไม่ใช่จีน ซึ่งหลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน 34% จีนก็สวนกลับทันควันด้วยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 34% เช่นกัน ทำให้สปอตไลต์บนเวทีการค้าโลกกลับมาจับที่คู่ชกรายเดิมอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดนี้ อัตราภาษีที่แต่ละประเทศเรียกเก็บจากอีกฝ่ายพุ่งทะยานแบบกู่ไม่กลับแล้ว โดยอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เก็บจากจีนอยู่ที่ 145% ส่วนที่จีนเก็บจากสหรัฐฯ อยู่ที่ 125%

 

*ย้อนไทม์ไลน์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน กว่าจะมาถึงวันนี้

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศนี้มีมายาวนาน ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

 

2561: เริ่มต้นสงครามการค้า

สงครามการค้าเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2561 เมื่อสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีกับสินค้านำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์จากจีน จากนั้นในเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งบริหารเพื่อเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติมรวมมูลค่าสูงถึง 5-6 หมื่นล้านดอลลาร์ จีนไม่รอช้าที่จะตอบโต้ โดยในเดือนเมษายน ได้ประกาศเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ 128 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวม 3 พันล้านดอลลาร์ ความตึงเครียดยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนกรกฎาคม เมื่อสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีในอัตรา 25% กับสินค้าจีนมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และจีนก็ตอบโต้ทันทีด้วยการเก็บภาษีในระดับเดียวกัน ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน สงครามภาษีได้ยกระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยทั้งสองประเทศต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันไปมาด้วยการประกาศมาตรการทางภาษีเพิ่มเติมหลายระลอก

 

2562-2563: เจรจาสู่การทำข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1

ในช่วงพฤษภาคมถึงกันยายน 2562 ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศทวีความรุนแรงขึ้นอีกระดับ เมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 25% จีนตอบโต้ด้วยมาตรการที่รุนแรงไม่แพ้กัน รวมถึงการระงับการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเดือนมกราคม 2563 ทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1 ซึ่งถือเป็นการบรรเทาความตึงเครียดลงชั่วคราว โดยในข้อตกลงนี้ จีนยอมที่จะเพิ่มการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่ามหาศาลถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาสองปี

 

2564-2566: เปลี่ยนผ่านและทบทวนนโยบาย

ในปี 2564 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและนโยบายเมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ามาบริหารประเทศ แม้จะมีการทบทวนนโยบายทางการค้ากับจีน แต่รัฐบาลไบเดนก็ยังคงมาตรการภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ที่รัฐบาลชุดก่อนดำเนินการไว้ ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2565 สหรัฐฯ ผ่อนคลายความตึงเครียดบางส่วนด้วยการยกเลิกภาษีบางรายการสำหรับสินค้าจีน แต่เป็นเพียงการยกเลิกในขอบเขตที่จำกัด อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน สหรัฐฯ กลับเพิ่มความเข้มงวดในอีกด้านหนึ่ง ด้วยการประกาศข้อจำกัดการส่งออกชิปและเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังจีน ตลอดปี 2566 ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยี แม้จะไม่มีการยกระดับมาตรการภาษีที่สำคัญในช่วงนี้ก็ตาม

 

2567-2568: การกลับมาของทรัมป์พร้อมนโยบายภาษีใหม่

การเมืองสหรัฐฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2567 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองในเดือนมกราคม 2568 การกลับมาของทรัมป์นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่า จีนย่อมหนีไม่พ้น

 

*ผลกระทบและความเป็นไปได้ในอนาคต

การที่โดนัลด์ ทรัมป์กลับมาดำเนินนโยบายภาษีที่แข็งกร้าวต่อจีนอีกครั้ง ส่วนจีนก็ไม่ยอมแพ้ ฟาดกลับไปแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่สงครามการค้าจะทวีความรุนแรงขึ้น ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้

  • ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก: สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศอาจหยุดชะงักเนื่องจากต้นทุนการนำเข้าส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนแหล่งผลิตและจัดหาวัตถุดิบใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพและความล่าช้าในการผลิต ส่วนในด้านเศรษฐกิจมหภาคนั้น อาจเกิดภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกก็อาจชะลอตัวลงเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการค้ายังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตและความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การควบคุมอาวุธ หรือความมั่นคงทางไซเบอร์

  • ผลกระทบต่อบริษัทและผู้บริโภค: ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคในทั้งสองประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าครั้งนี้ บริษัทสหรัฐฯ ที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากจีน หรือมีฐานการผลิตในจีน จะต้องเผชิญกับต้นทุนดำเนินงานที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลายบริษัทอาจต้องพิจารณาการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ รวมถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่สาม ในทางกลับกัน บริษัทจีนที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น และอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งจากประเทศอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษี ที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยคือผู้บริโภคในทั้งสองประเทศที่จะต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทจะปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

 

*แล้วสงครวามนี้จะจบลงอย่างไร

โรแลนด์ ราชาห์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Lowy Institute กล่าวว่า สงครามการค้ากับจีนรอบนี้แตกต่างจากในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ซึ่งเน้นการเจรจากับปักกิ่ง “ไม่ชัดเจนว่าอะไรคือแรงจูงใจเบื้องหลังภาษีเหล่านี้ และยากมากที่จะคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะดำเนินไปอย่างไรต่อไป”

เขากล่าวเสริมว่า จีนมี “เครื่องมือมากมาย” สำหรับการตอบโต้ เช่น การลดค่าเงินหยวนลงอีก หรือการควบคุมบริษัทสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจในจีน

“ผมคิดว่าคำถามคือพวกเขาจะยับยั้งชั่งใจแค่ไหน มีการตอบโต้เพื่อรักษาหน้า และมีการงัดอาวุธทั้งหมดออกมา มันไม่ชัดเจนว่าจีนต้องการเดินไปในเส้นทางนั้นหรือไม่ แต่ก็อาจเป็นไปได้”

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าสหรัฐฯ และจีนอาจมีการเจรจาส่วนตัว อย่างไรก็ดี ทรัมป์ยังไม่ได้พูดคุยกับสี จิ้นผิง นับตั้งแต่หวนคืนสู่ทำเนียบขาว แม้ว่าปักกิ่งจะส่งสัญญาณหลายครั้งถึงความเต็มใจที่จะเจรจาก็ตาม

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนไม่ได้มองในแง่ดีขนาดนั้น โดยเดบอราห์ เอล์มส์ หัวหน้านโยบายการค้าจาก Hinrich Foundation ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “ฉันคิดว่าสหรัฐฯ กำลังประเมินสถานการณ์สูงเกินไป” ซึ่งเธออ้างถึงความเชื่อของทรัมป์ที่ว่า ประเทศอื่น ๆ รวมถึงจีน จะต้องยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ

“เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ไม่มีใครรู้”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 68)

Tags: , , , ,
Back to Top