
ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบัน ของ บมจ.บัตรกรุงไทย [KTC] มาอยู่ที่ระดับ “AA” จากเดิมที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” และทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาทและไถ่ถอนภายใน 10 ปีของบริษัทที่ระดับ “AA” ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ไปใช้ชำระคืนหนี้ รวมทั้งใช้ในการขยายธุรกิจใช้ในการลงทุนของบริษัท หรือให้กู้ยืมแก่บริษัทลูก
การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตเฉพาะองค์กร (Stand-alone Credit Profile — SACP) ของบริษัทมาอยู่ที่ระดับ “a” จากเดิมที่ระดับ “a-” อันเนื่องมาจากการที่ทริสเรทติ้งประเมินสถานะทางธุรกิจของบริษัทมาเป็น “แข็งแกร่งมาก” จากเดิม “เข้มแข็ง” ทั้งนี้ สถานะกลุ่มของบริษัทซึ่งเป็น “บริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์” (Strategically Important Subsidiary) ของ ธนาคารกรุงไทย [KTB] อันดับเครดิต “AA+/Stable” นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
สถานะทางธุรกิจที่ “แข็งแกร่งมาก” ของบริษัทสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่เห็นว่าบริษัทสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและความเข้มแข็งของแบรนด์ในธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมาได้อย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรักษาผลการดำเนินงานทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีเอาไว้ได้ รวมถึงสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่ฐานทุนได้อย่างต่อเนื่องแม้ในสภาวะที่มีความท้าทายด้านเครดิต
โดยประเด็นสำคัญในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเรตติ้งมาจากการเชื่อมรวมระบบและได้รับการสนับสนุนจาก KTB อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทริสเรทติ้งพิจารณาให้บริษัทมีสถานะเป็น “บริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์” ของ KTB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 49.3% ในฐานะที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อสำหรับผู้บริโภคให้แก่ KTB บริษัทมีบทบาทสำคัญในการให้บริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน
บริษัทปรับกลยุทธ์ธุรกิจและการจัดการความเสี่ยงให้สอดคล้องกับของธนาคารแม่คือ KTB อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากการใช้แบรนด์และการตลาดร่วมกันกับธนาคารแม่อีกด้วย โดยลูกค้าบัตรเครดิตใหม่ส่วนใหญ่ได้มาจากสาขาของ KTB และแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ “Krungthai Next” ของ KTB เป็นช่องทางหลัก
KTB ให้การสนับสนุนทางการเงินและทางธุรกิจแก่บริษัทอย่างเต็มที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพันธะสัญญาระยะยาวที่แข็งแกร่งที่ธนาคารมีต่อบริษัท โดยการสนับสนุนนี้คาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในระยะใกล้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่า KTB จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเมื่อบริษัทอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
ด้านความสามารถในการรักษาเสถียรภาพในทุกช่วงวงจรธุรกิจนั้นอยู่ในสถานะทางธุรกิจที่ “แข็งแกร่งมาก” ซึ่งเห็นได้ในกระบวนการทำงานที่มีความยืดหยุ่นท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทาย โดยบริษัทสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักคือบัตรเครดิตเอาไว้ได้ทั้งในแง่ของจำนวนบัตร สินเชื่อคงค้าง และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแม้ว่าปริมาณการอุปโภคและบริโภคจะอ่อนแอลงมาตั้งแต่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ บริษัทประสบความสำเร็จในการรักษาตำแหน่งทางการตลาดเอาไว้ได้แม้จะมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยในปี 2567 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 15% จาก 13%-14% ในช่วงหลายปีก่อนหน้า บริษัทมีการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ระดับ 10% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ระดับ 3% อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกัน บริษัทยังรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดที่มั่นคงที่ระดับ 6%-7% ในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ได้อีกด้วย
ในส่วนของฐานลูกค้านั้น บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในการรักษาลูกค้าผ่านโปรแกรมสมาชิกสะสมแต้ม (Loyalty program) ที่ใช้คะแนนสะสมในการส่งเสริมการขายซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญ และบริษัทยังให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่มรายได้ที่หลากหลายตั้งแต่ลูกค้ารายได้ปานกลางไปจนถึงลูกค้ารายได้สูงในขณะเดียวกันก็ทำการตลาดให้ตรงกับเป้าหมายโดยเสนอผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตเฉพาะกลุ่ม (Affinity credit cards) และโปรโมชั่นที่ปรับให้เหมาะกับกลุ่มอายุลูกค้าที่แตกต่างกันไป
ในแง่ของการกระจายรายได้นั้น บริษัทสร้างรายได้ทั้งจากดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อคงค้างและจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมเป็นแหล่งรายได้ที่ต่อเนื่องซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่การขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันก็เป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมที่จะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต
ด้านคุณภาพของฝ่ายบริหารนั้น ฝ่ายบริหารของบริษัทสามารถดำเนินตามแผนการดำเนินงานได้โดยมีผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายเป็นอย่างมากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังได้กำหนดนโยบายทางการเงินที่รอบคอบและระมัดระวังอย่างต่อเนื่องโดยใช้แหล่งเงินทุนระยะยาวในสัดส่วนที่สูงขึ้นและเพิ่มฐานทุนผ่านนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่สมดุลประมาณ 40% อีกด้วย และในช่วงที่สภาพการณ์ด้านเครดิตมีความอ่อนแอ บริษัทก็ระมัดระวังมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตให้สามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานคาดว่ากำไรจะคงที่แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของกำไรในทุกวงจรธุรกิจ ทั้งนี้ ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทซึ่งประเมินโดยอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ย (EBT/ARWA) ที่ยังคงค่อนข้างคงที่ที่ระดับประมาณ 5.0%-6.0% ทั้งในช่วงระหว่างและหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งความมีเสถียรภาพนี้เป็นผลมาจากความสามารถของบริษัทในการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ และประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ในปี 67 บริษัทรายงานอัตราส่วน EBT/ARWA ที่ระดับ 5.1% และกำไรสุทธิที่จำนวน 7.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตที่อัตรา 2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านเครดิตจะเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตัดหนี้สูญและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงก็ตาม ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารส่วนใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งที่มีกำไรลดลง ทั้งนี้ กำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงหนุนจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งเกิดจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากการส่งเสริมการตลาดและอัตราการเรียกเก็บหนี้คืนสูงจากบัญชีที่ตัดหนี้สูญแล้ว
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วน EBT/ARWA ของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 5% ในระหว่างปี 68-70 ถึงแม้ว่าต้นทุนในหลาย ๆ ด้านจะเพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งก็คาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 12% โดยหลักมาจากการปรับพอร์ตสินเชื่อไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นซึ่งได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งช่วยชดเชยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 36% ในช่วงปี 68-70 เมื่อเทียบกับ 35% ในหลายปีก่อนหน้าอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้นและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านเครดิตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งสะท้อนถึงนโยบายการกันสำรองที่รอบคอบโดยมีอัตราส่วนสำรองต่อลูกหนี้ด้อยคุณภาพมากกว่า 400% ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่
นอกจากนี้มุ่งเน้นธุรกิจหลักในขณะที่ขยายสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันอย่างระมัดระวังโดย ณ สิ้นปี 67 สินเชื่อคงค้างของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.11 แสนล้านบาทซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า พอร์ตสินเชื่อนี้ประกอบไปด้วยสินเชื่อบัตรเครดิตคิดเป็น 66% ตามมาด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันคิดเป็น 29% ในขณะที่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนที่เหลืออีก 5%
ทริสเรทติ้งคาดว่าพอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะขยายตัวที่ระดับ 4%-7% ต่อปีในช่วงปี 68-70 โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของบัตรเครดิตที่ออกใหม่ ตลอดจนสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ส่วนการหาลูกค้าใหม่นั้นจะยังคงได้รับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ KTB ซึ่งเป็นความร่วมมือทางด้านกลยุทธ์ภายในกลุ่มที่กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมถึงผ่านช่องทางออนไลน์และบริการสมัครออนไลน์ด้วยตนเอง
ในปี 68 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะออกบัตรเครดิตใหม่ที่จำนวน 250,000 ใบโดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้ารายได้สูงและผู้ที่เริ่มทำงาน ทั้งนี้ จากสมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งประเมินว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทจะเติบโตในอัตรา 8%-10% ต่อปีในระหว่างปี 68-70 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการด้านการตลาดและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นกับพันธมิตรบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้น บริษัทจะเพิ่มจำนวนบัญชีใหม่ประมาณ 100,000 บัญชีในปี 68 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งเสริมการตลาด นอกจากนี้ บริษัทยังจะเน้นการใช้สินเชื่อเพิ่มในกลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตที่มีอยู่อีกด้วย
สำหรับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันนั้น บริษัทยังคงใช้กลยุทธ์การเติบโตแบบระมัดระวังโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพสินทรัพย์ บริษัทได้กำหนดเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ระดับ 3 พันล้านบาทสำหรับปีนี้โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำซึ่งได้แก่ พนักงานที่มีเงินเดือน ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเจ้าของธุรกิจที่มีแหล่งรายได้ที่ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ จากสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่ให้บริษัทมีการให้สินเชื่อใหม่จำนวน 3 พันล้านบาทและมีอัตราการชำระคืนที่ระดับ 40% ต่อปี สินเชื่อคงค้างของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7 พันล้านบาท ภายในสิ้นปี 69 ส่วนในระยะยาวนั้น การกระจายไปยังธุรกิจดังกล่าวคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจโดยรวม ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อผลตอบแทนสินเชื่อโดยรวมเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงของสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน
ขณะเดียวกันทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์จะยังคงหดตัวเนื่องจากบริษัทได้หยุดการปล่อยสินเชื่อใหม่จากความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลงท่ามกลางวงจรขาลงของอุตสาหกรรมเช่าซื้อรถยนต์ โดยบริษัทจะมุ่งเน้นไปที่การจัดเก็บหนี้และเสนอทางเลือกในการปรับโครงสร้างสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่รอบคอบ ตลอดจนการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยง และการสำรองหนี้สูญที่แข็งแกร่ง
ณ สิ้นปี 67 บริษัทมีอัตราส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ลดลงเหลือ 2.0% จาก 2.2% ณ สิ้นปี 66 อัตราส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทซึ่งได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยอยู่ที่ระดับ 1.3% และ 2.5% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 67 อัตราการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.6% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปี) ในไตรมาส 1/67 จากระดับ 5.1% ในปี 66 ก่อนจะทรงตัวอยู่ในระดับ 5.6%-5.9% ในไตรมาสที่ 2-4 ของปี 67 ซึ่งความผันผวนนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตัดหนี้สูญชั่วคราวเพื่อบริหารลูกหนี้ด้อยคุณภาพ
จากสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของลูกหนี้ด้อยคุณภาพจะสูงขึ้นในเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.8%-5.9% ในระหว่างปี 68-70 นั้น ทริสเรทติ้งจึงประมาณการว่าอัตราส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัทน่าจะยังคงต่ำกว่า 2.0% ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าค่าใช้จ่ายด้านเครดิต (การตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ย) ของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 6.3%-6.6% ในช่วงปี 68-70 ซึ่งสูงกว่าระดับในปี 67 เล็กน้อย ทั้งนี้ การประมาณการของทริสเรทติ้งยังคงอัตราส่วนสำรองต่อลูกหนี้ด้อยคุณภาพไว้ที่ระดับประมาณ 400% ตามนโยบายของผู้บริหาร ซึ่ง ณ สิ้นปี 2567 อัตราส่วนสำรองต่อลูกหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่ระดับ 369%
บริษัทคาดว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาเมื่อต้นปี 68 จะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทค่อนข้างน้อย โดยมาตรการเหล่านี้คือการคงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตที่ระดับ 8% ในปี 2568 โดยลูกหนี้บัตรเครดิตจะได้รับเครดิตดอกเบี้ยคืนในกรณีที่ชำระหนี้เกินเกณฑ์ขั้นต่ำ รวมถึงการดำเนินโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
ด้านฐานทุนแข็งแกร่งขึ้นเป็นผลจากกำไรที่ดี โดยบริษัทได้สร้างฐานทุนที่แข่งแกร่งต่อเนื่องจากการสะสมกำไรอย่างคงที่และมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่รอบคอบ ทริสเรทติ้งประเมินให้ฐานทุนของบริษัทอยู่ในระดับ “แข็งแรง” โดยประเมินจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (RAC Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 67 ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ 21.8% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ภายในปี 70 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อของบริษัทจะมีอัตราเฉลี่ยที่ 4-7% โดย EBT/ARWA จะอยู่ที่ระดับประมาณ 5% และอัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 46% ในส่วนของหนี้สินทางการเงิน ณ เดือนธ.ค. 67 ซึ่งพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทที่ระดับ 1.8 เท่านั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับเงื่อนไขทางการเงินที่บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 10 เท่า
บริษัทมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุน รวมทั้งมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ KTB ยังได้เพิ่มวงเงินสินเชื่อระยะสั้นและระยะยาวให้แก่บริษัทอย่างมีนัยสำคัญ โดย ณ เดือนธันวาคม 67 วงเงินสินเชื่อของ KTB มีสัดส่วนคิดเป็น 72% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดของบริษัท ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 4.12 หมื่นล้านบาท
ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น บริษัทมีหนี้สินระยะสั้นเพิ่มขึ้นคิดเป็น 37% ของหนี้สินรวมของบริษัท ณ เดือนธันวาคม 67 จาก 33% ณ เดือนธ.ค. 66 ส่วนการหนี้สินระยะยาวยังคงเป็นสัดส่วนใหญ่ของโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนเมษายน 2568 บริษัทมีหุ้นกู้ระยะยาวคงค้างจำนวนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นกู้มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทจากจำนวนดังกล่าวจะครบกำหนดไถ่ถอนภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทมีแผนรองรับการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อนำมาใช้ทดแทนหุ้นกู้ชุดเก่าดังกล่าวแล้ว
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ซบเซาและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตเพียง 3% หรือคิดเป็น 2.2 ล้านล้านบาทในปี 67 ในขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างลดลง โดยสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลง 3% และสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันปรับตัวลดลง 5.4% เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพของบัตรเครดิตยังคงที่โดยอยู่ที่ระดับ 2.6% จากระดับ 2.5% ณ สิ้นปี 66 ขณะที่อัตราส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.9% จาก 4.4% ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากรัฐบาลและธปท. อาจช่วยให้อัตราส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้น แต่ผลลัพธ์อาจมีจำกัด ในขณะที่หนี้ครัวเรือนน่าจะยังคงเป็นปัจจัย สำคัญที่จำกัดการเติบโตของสินเชื่อผู้บริโภคต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระหว่างปี 68-70 มีดังนี้
- สินเชื่อรวมคงค้างจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 4%-7% ต่อปี
- อัตราผลตอบแทนจากเงินให้สินเชื่อ (Loan yield) รับจะอยู่ที่ระดับประมาณ 15%
- ต้นทุนทางการเงิน (Funding cost) จะอยู่ในช่วง 2.8%-3.0%
- ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) จะอยู่ในช่วง 6.3%-6.7%
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 36%
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของทั้งธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งยังคงรักษาฐานทุน ตลอดจนความสามารถในการทำกำไร และคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลงเฉพาะของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยง (RAC ratio) สูงกว่า 25% หรืออัตราส่วน EBT/ARWA สูงกว่า 6% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ KTB อันดับเครดิตของบริษัทก็จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าสถานะของบริษัทในกลุ่มจะถูกยกไปสู่ระดับที่สูงขึ้นก็ตาม
ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจเกิดขึ้นได้หาก RAC ratio ของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 12% หรือหากค่าใช้จ่ายด้านเครดิตสูงกว่า 12.5% หรือสถานะทางการตลาดของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตของ KTB หรือการประเมินสถานะกลุ่มของบริษัทที่ต่ำลงก็อาจมีผลต่อการลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 68)
Tags: KTC, ทริสเรทติ้ง, บัตรกรุงไทย, หุ้นไทย, อันดับเครดิต