
เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์ (Seven & i Holdings) บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานในวันนี้ (9 เม.ย.) ว่า กำไรจากการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 ลดลง 15% ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของบริษัทในการป้องกันข้อเสนอซื้อกิจการมูลค่า 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากอาลีมองตาซิยง คูช-ตาร์ (Alimentation Couche-Tard) ของแคนาดา
เซเว่น แอนด์ ไอ ซึ่งเป็นผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-Eleven) ทำกำไรจากการดำเนินงานในช่วงเดือนธ.ค.-ก.พ.ได้ 1.056 แสนล้านเยน (726.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้จะลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 9.45 หมื่นล้านเยน
ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นการลดลงของกำไรติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 แล้ว โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะเงินเฟ้อสูงที่กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าจากร้านค้าคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า
เซเว่น แอนด์ ไอ พยายามอย่างหนักที่จะป้องกันข้อเสนอซื้อกิจการจากคูช-ตาร์ เจ้าของร้านเซอร์เคิล-เค (Circle-K) โดยอ้างว่ากฎหมายต่อต้านการผูกขาดในสหรัฐฯ อาจเป็นอุปสรรค และเชื่อว่าแผนปรับโครงสร้างของบริษัทเองก็เพียงพอที่จะเพิ่มมูลค่ากิจการได้
ส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวนี้ เซเว่น แอนด์ ไอ ได้เริ่มขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไปแล้ว หลังจากแผนการซื้อกิจการคืนโดยผู้บริหาร (MBO) ล้มเหลวไปเมื่อเดือนก.พ. นอกจากนี้ บริษัทยังได้แต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ ประกาศซื้อหุ้นคืนมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ และมีแผนจะนำบริษัทย่อยในอเมริกาเหนือเข้าตลาดหุ้นภายในครึ่งหลังของปี 2569
ในสัญญาณของการร่วมมือกันเพื่อจัดการกับประเด็นด้านกฎระเบียบ เซเว่น แอนด์ ไอ กับคูช-ตาร์ ยืนยันว่ากำลังร่วมมือกันหาผู้ซื้อร้านสะดวกซื้อราว 2,000 แห่งในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อให้คณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ (FTC) อนุมัติการควบรวมกิจการ ด้านแหล่งข่าววงในระบุว่า ผู้ซื้อที่สนใจส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทไพรเวทอิควิตี้
ทั้งนี้ ราคาหุ้นเซเว่น แอนด์ ไอ ปิดตลาดวันนี้ก่อนประกาศผลประกอบการที่ 1,848.5 เยน ซึ่งยังต่ำกว่าราคาเสนอซื้อของคูช-ตาร์ ที่ราว 2,700 เยนอยู่มาก ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นว่าดีลนี้จะสำเร็จ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 68)
Tags: ค้าปลีก, เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์