
เปิดฉากเดือนเมษายน 2568 ด้วยแรงสั่นสะเทือนวงการการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อนโยบาย “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะสองประเทศผู้ผลิตและส่งออกในอาเซียนที่เป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่งกัน นั่นคือ เวียดนามและไทย
ทันทีที่ทำเนียบขาวประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ต้นเดือนเม.ย. เวียดนามถูกกระหน่ำด้วยกำแพงภาษีสูงถึง 46% ขณะที่ไทยเผชิญอัตรา 36% ตัวเลขเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความปั่นป่วนในตลาดการเงินทั่วโลก ดังที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ชี้ว่านี่คือ “จุดเริ่มต้นสงครามการค้าโลกในศตวรรษที่ 21” เท่านั้น แต่ยังจุดชนวนการแข่งขันครั้งใหม่ที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิมระหว่างสองประเทศ
คำถามคาใจของผู้กำหนดนโยบายและภาคธุรกิจคือ ระหว่างเวียดนามกับไทย ใครจะหาทางบรรเทาผลกระทบและช่วงชิงความได้เปรียบในการเจรจาต่อรองกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ได้ก่อนกัน
การตัดสินใจและการเคลื่อนไหวในสัปดาห์ข้างหน้านี้จะไม่เพียงกำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ แต่ยังอาจส่งผลต่อทิศทางการค้าและการลงทุนทั้งภูมิภาค ท่ามกลางแรงกดดันมหาศาลนี้ ใครจะมีกลยุทธ์ที่เหนือกว่า เวียดนามที่ดูเหมือนจะบุกตะลุยเข้าหาโต๊ะเจรจาอย่างรวดเร็ว หรือไทยที่เลือกแนวทางสุขุมรอบคอบ ตั้งหลักเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อนเปิดศึก
เวียดนาม: เดิมพันสูง รุกเร็ว แต่สะดุดตั้งแต่ก้าวแรก (?)
สถานการณ์ของเวียดนามดูจะหนักหนาสาหัสเป็นพิเศษ อัตราภาษี 46% นับเป็นหนึ่งในอัตราสูงสุดที่สหรัฐฯ กำหนดใช้กับกว่า 180 ประเทศ นี่คือการทุบทำลายรากฐานเศรษฐกิจของเวียดนามที่พึ่งพาการส่งออกถึงเกือบ 90% ของ GDP ปี 2566 ตามข้อมูลจากธนาคารโลก โดยมีสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่รองรับสินค้าราว 30% ของการส่งออกทั้งหมด
ผลกระทบทันทีคือความตื่นตระหนกในตลาดทุน ดัชนี Ho Chi Minh Stock Index ดิ่งลง 7% ในวันเดียวหลังทรัมป์ประกาศมาตรการ นับเป็นการร่วงลงรายวันที่หนักที่สุดในรอบกว่าสองทศวรรษ
นักวิเคราะห์จาก OCBC Bank และ Oxford Economics ต่างคาดการณ์ว่าภาษีครั้งนี้อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างรุนแรง โดยอาจถึงขั้นหั่นยอดส่งออกสินค้าทั้งหมดของเวียดนามลงได้ถึง 40% และบั่นทอนความน่าดึงดูดของยุทธศาสตร์ “China+1” ที่เคยหล่อเลี้ยงการลงทุนในเวียดนามมาอย่างต่อเนื่อง
ภายใต้แรงกดดันมหาศาล เวียดนามเดินเกมรุกทันที โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ต่อสายตรงถึงปธน.ทรัมป์เมื่อวันที่ 4 เม.ย. พร้อมส่งคณะผู้แทนระดับสูงนำโดยรองนายกรัฐมนตรีบินตรงสู่วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเปิดโต๊ะเจรจา พร้อมยื่นข้อเสนอลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% หากสหรัฐฯ ทำเช่นเดียวกันกับสินค้าเวียดนาม และขอเลื่อนการบังคับใช้ภาษีออกไป 45 วัน
ทว่า การเดินเกมเร็วกลับสะดุดอย่างรวดเร็วเช่นกัน ข้อเสนอภาษี 0% ถูกปัดตกแทบจะในทันที ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาการค้าสายเหยี่ยวแห่งทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์ CNBC อย่างเผ็ดร้อนว่า ข้อเสนอดังกล่าว “ไม่มีความหมาย” ตราบใดที่เวียดนามยัง “โกงโดยใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร” (non-tariff cheating) นาวาร์โรชี้ประเด็นปัญหาทั้งการที่สินค้าจีนแฝงตัวผ่านเวียดนามเพื่อเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าแฝง
ยิ่งไปกว่านั้น ยอดเกินดุลการค้ามหาศาลที่เวียดนามมีต่อสหรัฐฯ ถึง 1.235 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2567 ก็เป็นหนามยอกอกที่ทำให้การเจรจาติดขัด แม้เวียดนามจะพยายามเอาใจทรัมป์ด้วยการลดภาษีสินค้าบางรายการ หรือเร่งอนุมัติโครงการ Starlink ก่อนหน้านี้ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนใจฝ่ายสหรัฐฯ ได้
คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า การรุกเร็วของเวียดนามนั้น แม้จะแสดงถึงความมุ่งมั่น แต่จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคที่ดูเหมือนจะถูกตั้งป้อมไว้อย่างแน่นหนาตั้งแต่ต้นได้หรือไม่
ไทย: ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม หรือกำลังเสียโอกาสทองให้เวียดนามกันแน่ (?)
ขณะที่เวียดนามกำลังเผชิญพายุใหญ่ ไทยก็มิได้อยู่นอกรัศมีทำลายล้าง กำแพงภาษี 36% แม้จะต่ำกว่าเวียดนาม แต่ก็สูงพอที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างหนักให้กับภาคการส่งออกที่ยังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ราว 18% ความวิตกนี้สะท้อนชัดผ่านมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในรายการ “Bnomics by Bangkok Bank” ภายใต้หัวข้อ “After Shock Reciprocal Tariffs” โดยชี้ว่า สถานการณ์นี้ไม่อาจรอช้า ไทยต้องเร่งเจรจาโดยด่วน
“เราต้องเรียนรู้ เราไม่ได้อยู่ในฐานะจำยอม เพราะภาษี 36% มันเยอะเกินไป และเราก็ไม่สามารถตอบโต้ได้ เพราะไทยเป็นประเทศเล็กเกินไป ดังนั้น เราต้องเจรจา เพราะตอนนี้มี 70 ประเทศรอกำลังเจรจาอยู่ หากเราเจรจาช้า หากจะเสียโอกาส เช่น เวียดนามที่เจรจา หากภาษีเขาลดลงมาเหลือ 0-10% เขาจะได้เปรียบเราทันที และในระยะกลางและยาว เราจะต้องไม่พึ่งพาเขา เพราะเราจะเป็นเบี้ยเขา เราต้องไปตลาดอื่นหรือค้าขายกับคนอื่น”
ข้อเสนอของนายกอบศักดิ์คือ ไทยต้องกางลิสต์สินค้าที่สหรัฐฯ ต้องการเจรจา เช่น ยานยนต์ เนื้อหมู ไก่ สุรา ออกมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน ว่าจะยอมเปิดตลาดในส่วนไหนได้บ้าง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรอง
แต่ท่าทีอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทยกลับเดินสวนทางกับเสียงเรียกร้องให้เร่งรีบนั้น แม้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะประกาศจุดยืนชัดถึงยุทธศาสตร์ที่ต้อง “รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ” และยืนยันว่ามีการจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการมาตั้งแต่ม.ค. แต่ในทางปฏิบัติ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ได้รับมอบหมายให้นำทีมเจรจา กลับกล่าวชัดเจนว่า “ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทาง” และ “ไม่รีบต้องไปเจรจาทันทีภายในวันพรุ่งนี้”
เหตุผลที่นายพิชัยให้ไว้คือ ต้องการใช้เวลาทบทวนเงื่อนไขและเตรียมข้อมูลให้รอบด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้อเสนอที่จะยื่นนั้นปฏิบัติได้จริงและแก้ปัญหาถูกจุด ไม่ใช่แค่การเสนอตัวเลขลดภาษีลอย ๆ ซึ่งอาจกลายเป็นการ “พูดฟรี ลดฟรี ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น”
ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังทุ่มเทเตรียมการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 5 ด้าน ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ มาเพิ่มมูลค่า (Win-Win) การทบทวนภาษีนำเข้าสินค้ากว่า 100 รายการอย่างละเอียด การขจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) การป้องกันการใช้ไทยเป็นทางผ่านเลี่ยงภาษี และการพิจารณาโครงสร้างการลงทุนที่จะส่งเสริมให้บริษัทไทยขยายการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น
มุมมองนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า เป้าหมายของสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ตัวเลขภาษี 36% แต่คือความมุ่งมั่นที่จะลดการขาดดุลการค้าและดึงฐานการผลิตกลับประเทศ ดังนั้น การเสนอทางออกที่ตอบโจทย์รากของปัญหา น่าจะได้ผลดีกว่าการรีบร้อนยื่นตัวเลขลดภาษี
แต่คำถามสำคัญคือ แนวทางที่ดูจะรอบคอบนี้จะทันการณ์หรือไม่ ความแตกต่างระหว่างวิสัยทัศน์ “รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ” ของนายกฯ กับการปฏิบัติจริงของทีมเจรจา สะท้อนความรอบคอบเชิงยุทธศาสตร์ หรือกำลังผลักไทยเข้าสู่ความเสี่ยงที่จะพลาดโอกาสทองให้คู่แข่งที่เคลื่อนไหวเร็วกว่าอย่างเวียดนาม อย่างที่นายกอบศักดิ์เตือนไว้
เมื่อความเร็วอาจไม่ใช่คำตอบ และเป้าหมายของสหรัฐฯ อาจสวนทางกับผลลัพธ์ที่ได้
สถานการณ์ของทั้งไทยและเวียดนามเผยให้เห็นความซับซ้อนหลายชั้นในสงครามการค้าครั้งนี้
ประการแรกคือ จังหวะก้าวของไทย ความเห็นที่แตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างภาคเอกชนที่เรียกร้องความเร็ว กับภาครัฐที่เน้นความพร้อม สะท้อนมากกว่าแค่ความต่างด้านมุมมอง แต่สะท้อนถึงบทบาทและความรับผิดชอบที่ต่างกัน โดยรัฐบาลต้องแบกรับผลกระทบในวงกว้างและต้องคำนึงถึงมิติทางการเมือง ขณะที่ภาคเอกชนเห็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นทุกวินาที คำถามคือ ความรอบคอบที่มากเกินไปจะกลายเป็นการปล่อยให้คู่แข่งชิงความได้เปรียบไปหรือไม่
ประการที่สองคือ การรุกเร็วแล้วสะดุดล้มของเวียดนาม การที่ข้อเสนอถูกปัดตกทันควันชี้ให้เห็นว่าความเร็วเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับคู่เจรจาอย่างรัฐบาลทรัมป์ที่มีข้อเรียกร้องที่ซับซ้อนกว่าแค่เรื่องภาษี และมีจุดยืนแข็งกร้าวว่าต้องการลดยอดขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ลงให้จงได้
ประการที่สามคือ ความย้อนแย้งในนโยบายภาษีของทรัมป์เอง แม้เป้าหมายที่ทรัมป์ประกาศคือการลดขาดดุลการค้าและดึงการผลิตกลับสหรัฐฯ แต่หลายฝ่ายมองว่าผลลัพธ์ที่ได้อาจสวนทาง หรือสหรัฐฯ อาจเป็นฝ่ายเจ็บตัวเสียเอง การขึ้นภาษีนำเข้าจากฐานการผลิตอย่างเวียดนามและไทยย่อมกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของผู้บริโภคและบริษัทอเมริกันที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในเวียดนามที่เป็นฐานผลิตของยักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Nike, Adidas, Samsung และอีกมากมาย นั่นหมายความว่า ชาวอเมริกันอาจลงเอยด้วยการต้องจ่ายค่ารองเท้ากีฬาหรือสมาร์ตโฟนแพงขึ้นกว่าเดิมอย่างมหาศาล
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการนี้อาจกระตุ้นให้เกิดการหาช่องทางเลี่ยงภาษีผ่านประเทศที่สาม หรือผลักดันให้ประเทศอย่างเวียดนามและไทยต้องหันไปพึ่งพาและกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้น ดังที่ The Economist วิเคราะห์ว่า การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีกำหนดเยือนกรุงฮานอยในสัปดาห์หน้าอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และนโยบายของทรัมป์อาจกำลังบั่นทอนยุทธศาสตร์ “การทูตไผ่ลู่ลม” (Bamboo Diplomacy) ของเวียดนามโดยไม่ตั้งใจ
ความซับซ้อนเหล่านี้ย้ำเตือนว่า สงครามการค้าครั้งนี้ไม่ได้วัดกันแค่ตัวเลขภาษี แต่เกี่ยวพันลึกซึ้งกับประเด็นเชิงโครงสร้าง การเมืองภายในสหรัฐฯ ภูมิรัฐศาสตร์โลก และศักยภาพในการปรับตัวของแต่ละประเทศ
ไทย-เวียดนาม: หนทางยังอีกไกล ใครจะเข้าเส้นชัยก่อนกัน
เมื่อมองไปข้างหน้า การคาดการณ์ว่าใครจะ “เข้าวิน” หรือคว้าความได้เปรียบได้ก่อนระหว่างไทยกับเวียดนามยังเป็นเรื่องยากที่จะฟันธง
เวียดนาม แม้จะเริ่มต้นด้วยการถูกปฏิเสธ แต่การที่เวียดนามสามารถเจาะเข้าถึงโต๊ะเจรจาระดับสูงได้อย่างรวดเร็ว อาจเป็นโอกาสที่จะได้ดีลบางอย่างกับสหรัฐฯ (แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ) เพื่อบรรเทาผลกระทบได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม เวียดนามต้องเผชิญโจทย์ที่ท้าทายกว่า ทั้งประเด็นยอดเกินดุลมหาศาลและข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่ต้องหาทางแก้ไข
ส่วนไทย การเลือกใช้เวลาเพื่อเตรียมการอย่างรอบด้านอาจนำมาซึ่งข้อเสนอที่ตรงประเด็นและมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อถึงเวลาเจรจา แนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่นายพิชัยนำเสนอ หากปฏิบัติได้จริงและตอบโจทย์สหรัฐฯ อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่าในระยะยาว แต่ความเสี่ยงคือ หากกระบวนการเตรียมการล่าช้าเกินไป หรือข้อเสนอยังไม่ถูกใจสหรัฐฯ ไทยอาจตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านและต้องแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อ
แต่ไม่ว่าแนวทางของใครจะประสบความสำเร็จมากกว่ากันในระยะสั้น สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นทิศทางร่วมกันของทั้งเวียดนามและไทยในระยะยาวคือ ความจำเป็นในการลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่น ๆ ดังที่นายกอบศักดิ์เสนอให้ไทยลดสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ เหลือ 10% แล้วหันไปบุกตลาดใหม่ ๆ เช่น ตะวันออกกลาง อินเดีย อาเซียน หรือแอฟริกา ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่นายกฯ กล่าวถึงการหาตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง
ฟัง In Focus Podcast คลิกที่นี่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 68)
Tags: In Focus, SCOOP, ภาษีตอบโต้, สงครามการค้า, สหรัฐ, เวียดนาม, โดนัลด์ ทรัมป์