ดีอี ย้ำแบงก์-ค่ายมือถือ ต้องร่วมรับผิดชอบ-เยียวยาเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังกม.ไซเบอร์มีผลบังคับใช้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มั่นใจหลัง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากมีผลบังคับใช้จะช่วยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้บริการโทรศัพท์หรือโทรคมนาคม การทำธุรกรรมด้านการเงิน และกรณีที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายจะได้รับการช่วยเหลือและติดตามเส้นทางการเงินเพื่อนำเงินมาคืนได้อย่างรวดเร็ว

กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานของเอกชนมีส่วนร่วมรับผิดในความเสียหาย โดยหน่วยงานของรัฐจะกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการควบคุมกำกับดูแล ทำให้หน่วยงานของเอกชนเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นมาตรการที่จะช่วยเยียวยาผู้เสียหายได้ โดยครอบคลุมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนใน 5 มิติ ได้แก่

  1. มิติการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ช่วยยับยั้งการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีของมิจฉาชีพ โดยการสกัดช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการก่ออาชญากรรม เช่น การใช้ซิมผี บัญชีม้า การส่ง SMS แนบลิงก์ ฯลฯ
  2. มิติการบูรณาการร่วมกัน โดยกระทรวงดีอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณาการกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามฯ อาทิ มาตรการการบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลของศูนย์ AOC ธนาคาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กสทช. ปปง. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ฯลฯ
  3. มาตรการบังคับทางกฎหมาย เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยร่าง พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ มีมาตรการทางกฎหมายที่ครอบคลุมการบังคับใช้ เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
  4. มิติการยับยั้งความเสียหาย การกำหนดมาตรการการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นผลสกัดช่องทางการสร้างความเสียหายให้กับประชาชน พร้อมทั้งทำให้เกิดการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รัดกุม ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดมูลค่าความเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง
  5. มิติการเยียวยา ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้มีเนื้อหาสาระสำคัญที่กำหนดให้มีการเยียวยาประชาชนผู้เสียหาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำของมิจฉาชีพ โดยกำหนดให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 68)

Tags: , , , , ,
Back to Top