
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) มีมุมมองว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยค่อนข้างเร็วในระยะสั้น โดยมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงไตรมาส 2 และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี
SCB EIC ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมาในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมายังหลายพื้นที่ในไทยให้ได้รับผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย โดยแม้ว่าสนามบินทั่วประเทศจะกลับมาใช้งานตามปกติโดยไม่มีนักท่องเที่ยวตกค้างหลังประกาศปิดให้บริการกว่า 1 ชั่วโมง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในไทยส่วนใหญ่สามารถกลับเข้าที่พักได้หลังโรงแรมที่เป็นตึกสูงหลายแห่งได้รับการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นแล้ว แต่เหตุแผ่นดินไหวนี้ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติทันทีโดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ
อย่างไรก็ดี เหตุแผ่นดินไหวเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย สะท้อนจากตัวเลขการยกเลิกห้องพักในช่วง 2 วันหลังเหตุการณ์ของสมาคมโรงแรมไทยที่มีการยกเลิกห้องพักแล้วประมาณ 1,100 บุกกิงทั่วประเทศ โดยจากข้อมูลของผู้ประกอบการโรงแรม ห้องพักที่ถูกยกเลิกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งการสำรวจยอดการจองห้องพักล่วงหน้าในช่วงสงกรานต์ (11-17 เม.ย. 68) ของสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย 52 แห่ง ณ วันที่ 3 เม.ย. 68 ยังพบว่า ยอดการจองห้องพักลดลงราว -25%YOY โดยชลบุรีมีการจองห้องพักลดลงสูงสุดที่ราว -67%YOY ตามด้วยกรุงเทพฯ -32%YOY สุราษฎร์ธานี -19%YOY และเชียงใหม่ -11%YOY
ทั้งนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทาง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากรัฐบาลหลายประเทศ ออกประกาศแนะนำให้พลเมืองที่จะเดินทางมาไทยให้ติดตามข่าวสารในไทยอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลไทยอย่างเคร่งครัด
ในช่วงที่ผ่านมา เหตุแผ่นดินไหวในประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเอเชีย และภัยธรรมชาติที่เคยเกิดในไทย ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะสั้นไม่เกิน 3 เดือน แม้ว่าเหตุแผ่นดินไหวในไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับในฮอกไกโด และไต้หวัน หรือเหตุสึนามิที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ลดลง
SCB EIC ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุแผ่นดินไหวต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ณ วันที่ 1 เม.ย. 68 ไว้ 3 กรณี ได้แก่ Better case, Base case และ Worse case โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีจะประเมินภายใต้กรอบแนวทาง ดังนี้
-
การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเม.ย. 68 ที่สูงกว่าการลดลงเฉลี่ยตามฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเม.ย. ในช่วงปี 66-67 ซึ่งอยู่ที่ราว -6%MOM
-
ระยะเวลาการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 68 ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 38.2 ล้านตามสมมติฐานในแต่ละกรณี อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหากภาครัฐเร่งออกมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาได้เร็ว โดยประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เดิมจะถูกปรับหลังสถานการณ์ท่องเที่ยวมีความชัดเจนมากขึ้น
โดย SCB EIC ประเมินผลกระทบภาคท่องเที่ยวจากแผ่นดินไหวเป็น 3 กรณี ดังนี้
-
กรณีที่ 1 Better case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเม.ย. ลดลงราว -9%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 2 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 68 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 1.95 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 9.53 พันล้านบาท
-
กรณีที่ 2 Base case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเม.ย. ลดลงราว -12%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 3 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 68 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 4.2 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 2.06 หมื่นล้านบาท
-
กรณีที่ 3 Worse case : นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเม.ย. ลดลงราว -15%MOM และใช้เวลาฟื้นตัวราว 4 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 68 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 6.8 แสนคนตลอดระยะเวลาฟื้นตัว สูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปราว 3.30 หมื่นล้านบาท
การเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวในไทยได้เร็วขึ้น โดยภาครัฐควรเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโรงแร มและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอาคารสูงอย่างละเอียด ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ แต่ควรตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารสูงทั่วประเทศ
พร้อมกับการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติว่า อาคารสูงในประเทศไทยต้องผ่านมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว (มยผ.1301/1302-61) ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีศักยภาพรองรับแรงสั่นสะเทือน และมีมาตรฐานใกล้เคียงกับระดับสากล รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลอาคารที่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว โดยภาครัฐอาจพิจารณาออกตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายรับรองอาคารเพื่อช่วยในการสื่อสารข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้าใจง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่สามารถแจ้งเตือนเหตุกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทันท่วงทีเพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและยังสามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการแจ้งข่าวสารให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากการเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาอาจจะต้องใช้เวลากว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตได้ในระดับเดิม ดังนั้น การออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ทันต่อสถานการณ์ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะช่วยลดผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 68)