เงินบาทเปิด 34.91 อ่อนค่าต่อเนื่อง มีลุ้นแตะ 35 บาท ท่ามกลางความกังวลนโยบายสหรัฐ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงิน บาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.91 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปิดวันก่อนที่ระดับ 34.82 บาท/ดอลลาร์

ตั้งแต่คืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยอ่อนค่าลงบ้าง โดยเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการ ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ล่าสุดเตรียมขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนอีก 50% ซึ่งจะทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนจะสูงถึง 104% ภาพดังกล่าวกดดันให้เงินหยวนจีน Offshore (CNH) อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน อีกทั้งเงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการลดลงต่อ เนื่องของราคาทองคำ

สำหรับค่าเงินบาทมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลง จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของ สหรัฐฯ โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาท/ดอลลาร์ได้ไม่ยาก หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ใน ภาวะปิดรับความเสี่ยง กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทยเพิ่มเติม

“ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และเงินหยวนจีน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทเกิน 70% โดยหากราคา ทองคำทยอยรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้” นายพูน ระบุ

นอกจากนี้ ฝั่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 35.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งโฟลว์ ธุรกรรมดังกล่าวอาจช่วยจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในระยะสั้น

นายพูน คาดกรอบเงินบาทวันนี้ จะอยู่ที่ระดับ 34.70-35.00 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 145.47 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานที่ระดับ 147.24/25 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.1039 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานที่ระดับ 1.0924/0926 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 34.655 บาท/ดอลลาร์
  • “แพทองธาร” รับมือผลกระทบภาษีสหรัฐ “ยูเอสทีอาร์” รับนัดเจรจาการค้า “พิชัย” คาดใช้เวลา 10 ปี ปรับสมดุลการ ค้าสหรัฐ หลังไทยได้ดุลการค้ามากกว่า 15 ปี ดัน 5 แผน เพิ่มนำเข้าสินค้าเกษตร ลดภาษีนำเข้าพุ่งเป้า 100 รายการ ที่อัตราต่ำ สกัด จีนสวมสินค้าไทยส่งออกสหรัฐ เตรียมรับผลกระทบเศรษฐกิจ “จีน” สู้จนถึงที่สุดหลังทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีอีก 50% สหรัฐนัด 50 ประเทศ เข้า เจรจา
  • “กอบศักดิ์” แนะรัฐเร่งออกมาตรการรักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ประกอบการ หนุนการท่องเที่ยว-ใช้จ่าย กีดกัน สินค้าจีนราคาถูกระหว่างการไปเจรจาลดภาษีกับสหรัฐฯ หวั่นเศรษฐกิจไทยฟุบจากผลกระทบทรัมป์ 2.0 มองตลาดสินทรัพย์ผันผวน แนะคน ไม่ไหวออกจากตลาดถือเงินสด รอจังหวะฝุ่นหายตลบ
  • มรสุมปัจจัยลบกระหน่ำ “ท่องเที่ยวไทย” ไตรมาสแรก ฉุดยอดต่างชาติโตต่ำ 2% แต่รายได้ยังบวกเกิน 10% “ททท.” จ่อ หารือ กระทรวงท่องเที่ยวฯ ปรับเป้าหมายรายตลาด แต่ยังคงเป้าใหญ่ดึงต่างชาติเข้าไทย 39-40 ล้านคน รุกตลาดอื่นชดเชย “นักท่อง เที่ยวจีน” พร้อมแก้เกม ดึงดาราจีนเยือนไทย ไฮไลต์อีเวนต์ใหญ่ฉลอง 50 ปี สัมพันธ์ไทย-จีน ก.ค. หลังความเชื่อมั่น ด้านปลอดภัยทุบ ยอดไตรมาสแรกหด 24% เดินทางเข้าไทยสะสมแค่ 1.33 ล้านคน
  • โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า ปธน.ทรัมป์จะบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตามกำหนด ซึ่งถือเป็นการดับความหวังของนักลง ทุนที่ต่างก็คาดหวังว่าปธน.ทรัมป์อาจจะเลื่อนหรือผ่อนปรนการเรียกเก็บภาษี ก่อนที่มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จะมีผลบังคับใช้ในช่วงเที่ยงคืนของวันพุธที่ 9 เม.ย.ตามเวลาสหรัฐฯ
  • รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เม. ย. รัฐบาลของเกือบ 70 ประเทศก็ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ก็เปิดกว้างสำหรับการเจรจากับประเทศ ต่าง ๆ
  • เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวยืนยันว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีศุลกากร 104% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนในวันพุธที่ 9 เม.ย. เวลา 00.01 น.ตามเวลาสหรัฐฯ หรือตรงกับเวลา 11.01 น.ตามเวลาไทย
  • สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (8 เม.ย.) ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิด สงครามการค้าและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (8 เม.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และ จากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็น สองประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
  • ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญที่จะเปิดเผยในวันนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ เปิดเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ., สต็อก น้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA)
  • นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันพุธ (9 เม.ย.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตรา ดอกเบี้ย รวมทั้งจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 เม.ย. 68)

Tags: , ,
Back to Top