
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในรายการ “Bnomics by Bangkok Bank” ภายใต้หัวข้อ “After Shock Reciprocal Tariffs” ว่า จากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (Reciprocal Tariffs) ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.เป็นมา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลกในศตวรรษที่ 21 สงผลให้ตลาดการเงินตลาดทุนของโลกปั่นป่วน ดัชนีดาวน์โจนส์ปรับตัวลดลงอย่างมากแค่วันเดียว 1,500 จุดและตลาด Nasdaq เข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market)
ทั้งนี้ การเก็บภาษีของสหรัฐรอบนี้มี 3 ระดับ โดยระดับประเทศได้ประกาศไปเมื่อ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา ระดับอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ กลุ่มเหล็ก เป็นต้น และระดับบริษัท ซึ่งจะทำต่อไป ส่วนไทยถูกเก็บภาษีในอัตรา 36%
สำหรับทางรอดของไทย สิ่งที่ต้องเตรียมการกับผลกระทบจาก Reciprocal Tariffs รับมือสินค้าจีนจะทะลักเข้ามา ขณะที่เทคโนโลยีจะต้องพัฒนาเร็วขึ้นมาก การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นจากผู้เล่นใหม่ในภูมิภาค รวมถึงการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจที่จะรุนแรงขึ้นทั้งเรื่องการค้าและเรื่องอื่นๆด้วย
นายกอบศักดิ์ ระบุว่า ผลกระทบกับไทย 5 ช่องทางได้แก่ การค้า การท่องเที่ยว เงินลงทุน ความผันผวนของสินทรัพย์ และความเชื่อมั่น เริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้น โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ที่เคยจะลงทุนในไทยก็อาจจะทบทวน
ฉะนั้น ทางออกของไทย เราต้องเตรียมการ 5 ด้าน
1.เริ่มต้นด้วยการเจรจากับสหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจเผชิญลมต้าน (Head Wind) ค่อนข้างเยอะ หากเจรจาช้า ไทยจะสูญเสียโอกาส เพราะปัจจุบันมี 70 ประเทศที่รอเจรจาอยู่
2.ระหว่างเจรจารัฐบาลต้องหาวิธีรักษา Momentum เศรษฐกิจอย่างไร
3.การเตรียมรับมือกับสินค้าจีนที่เข้ามาไทยอย่างไร
4.สงครามการค้าที่สหรัฐและจีนเขื่อว่าเป็นมหากาพย์แน่นอน ดังนั้นไทยควรจะลดการพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐที่ปัจจุบันอยู่ที่ 18% หรืออย่างน้อยลดสัดส่วนให้เหลือ 10% หันมาดูตลาดในแถบเอเชียแทน อาทิ ตะวันออกกลาง อินเดีย อาเซียน แอฟริกา หรือตลาดอื่น
5.ไทยควรวางตำแหน่ง (position) ตนเองการอยู่ท่ามกลางระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างไร เพราะสุดท้ายเขาก็จะบังคับให้เราเลือกข้าง
“เราต้องเรียนรู้ เราไม่ได้อยู่ในฐานะจำยอม เพราะภาษี 36% มันเยอะเกินไป และเราก็ไม่สามารถตอบโต้ได้ เพราะไทยเป็นประเทศเล็กเกินไป ดังนั้น เราต้องเจรจา เพราะตอนนี้มี 70 ประเทศรอกำลังเจรจาอยู่ หากเราเจรจาช้า หากจะเสียโอกาส เช่น เวียดนามที่เจรจา หากภาษีเขาลดลงมาเหลือ 0-10% เขาจะได้เปรียบเราทันที และในระยะกลางและยาว เราจะต้องไม่พึ่งพาเขา เพราะเราจะเป็นเบี้ยเขา เราต้องไปตลาดอื่นหรือค้าขายกับคนอื่น”
นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวว่า ไม่ต้องสนใจกับตัวเลขอัตราภาษี 36% ที่สหรัฐประกาศจะเก็บจากไทย แต่ให้สนใจเนื้อหา สิ่งที่จะเจรจาต้องพิจารณาถึงว่าจุดไหนที่ไทยได้เปรียบ หรือเอาเปรียบสหรัฐ , สิ่งที่ไทยจะเป็นประโยชน์กับเขามีอะไรบ้าง, สิ่งที่เราจะซื้อจากเขาได้
ย้ำว่าเรายอมเขาก็ไม่ได้ ตอบโต้เขาก็ไม่ได้ ทางรอดของไทยคือการเจรจาด้วยความตั้งใจอย่างจริงจัง เพราะเป้าหมายของสหรัฐคือต้องการให้ไทยเปิดตลาด ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ มอเตอร์ไซด์ ,เนื้อหมู, เนื้อไก่, ไวน์, เบียร์ , เหล้า , เสื้อผ้า ,ยา, เครื่องใช้ต่างๆ
“ทั้งหมดนี้ สิ่งที่เขาอยากเจรจาซึ่งมีลิสต์อยู่แล้วอยากได้อะไร แล้วเราก็ไปที่ลิสต์เหล่านี้ ลองดูว่าเราให้อะไรให้เขาได้บ้าง อยากให้คิดอย่างนี้ว่ามีอีกหลายประเทศที่กล้าที่จะให้ ถ้าเกิดเราไม่ให้หรือลังเลใจ ถ้าเกิดเขาได้ แล้วเราจะทำยังไง … ถ้าวันหนึ่งเวียดนาม เหลือ 10% แต่เราอยู่ที่ 36% เราก็จะมีปัญหาในทางแข่งขันทันที”นายกอบศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ปัจจัยภายนอกสิ่งที่กังวลและน่าห่วง คือ สหรัฐและจีนทะเลาะกันเป็นประเด็นความขัดแย้งที่น่ากังวลใจ และอาจขยายมิติและลุกลามไปจุดอื่นได้ เช่น สงครามทางการทหาร เป็นต้น และปัจจัยภายในประเทศ จะเห็นว่าไทยยังมีความเปราะบาง ทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้โลกที่ปั่นป่วนจะเป็นปัจจัยซ้ำเติม
แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แม้ธนาคารกรุงเทพได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 68 จากเดิมต้นปีคาดไว้ที่ 3% ปรับลงมาอยู่ในกรอบ 2.5-3% แต่หลังจากสหรัฐประกาศขึ้นภาษีเกินกว่าคาด และมีสถานการณ์แผ่นดินไหวกระทบกับการท่องเที่ยว จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ราว 2.5% บวกลบ แต่มีทิศทางจะขยายตัวต่ำกว่านั้น
ขณะที่ภาคการลงทุนของไทย ภายใต้มรสุมมีพายุพัด เปรียบเหมือนคนที่เล่นสกี-เรือใบถ้าไม่เชี่ยวชาญอาจเสียชีวิตได้ จะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเกิดความผันผวนมากมายจากลมปาก และความเชื่อมั่นที่หายไป ซึ่งไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานเลย ดังนั้น จำเป็นต้องหาสินทรัพย์ที่มั่นคงมากขึ้น และหากไม่พร้อมควรออกจากตลาด และการลงทุนอาจจะต้องใช้เงินเย็นมากกว่าเงินร้อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 เม.ย. 68)
Tags: Reciprocal Tariffs, กอบศักดิ์ ภูตระกูล, ธนาคารกรุงเทพ, ภาษีนำเข้า, เศรษฐกิจไทย, โดนัลด์ ทรัมป์